xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข.พบจุลินทรีย์ขยะป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ประสาท  โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะแถลงผลการวิจัย เรื่อง “การผลิตสารปราบศัตรูพืชชีวภาพขยะอินทรีย์”
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย ม.ขอนแก่น พบจุลินทรีย์ในขยะมีประโยชน์ สามารถฆ่าเชื้อราโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศสำเร็จ ระบุเห็นผลและราคาถูกกว่ายาปราบศัตรูพืชทั่วไปมาก ทั้งสามารถย่อยสลายได้รวดเร็วกว่าสารเคมีปราบศัตรูพืช ชี้ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนผลิตลงได้

วันนี้ (29 ม.ค.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้จัดกิจกรรมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบสื่อมวลชน ประจำเดือนมกราคม 2552 โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตสารปราบศัตรูพืชชีวภาพขยะอินทรีย์” โดย ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี อาคาร 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัญหาจัดการขยะในชุมชนเมืองปัจจุบันยังมีหลายแห่งที่หาทางออกไม่ได้ ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิตผู้คน หลายฝ่ายพยายามแก้ปัญหา ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ค้นพบวิธีนำประโยชน์จากขยะอินทรีย์ มาผลิตเป็นสารป้องกันโรคในพืช นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรไทย

ผลการวิจัยพบว่า เชื้อจุลลินทรีย์ Bacillus subtilis มีอยู่มากในขยะอินทรีย์สามารถทำลายเชื้อรา Fusarium oxysporum ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ โดยกระบวนการทดลองศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้นำขยะมาคัดเลือกเพื่อแยกเศษพลาสติกออก เอาเฉพาะขยะสีเขียว นำตัวอย่างขยะมาประมาณ 10 กรัม ทำการแขวนลอยในสารละลายบัพเฟอร์ ปริมาตร 90 มิลลิลิตร เขย่าให้เข้ากันแล้วนำมาทำการเพิ่มจำนวนในอาหารเลี้ยงเชื้อ

จากนั้นนำเชื้อไปทาบนผิวหน้าอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งด้วยแท่งแก้วงอ เพื่อให้ได้กลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย และนำไปทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศที่มีชื่อว่า Fusarium oxysporum ที่มักระบาดในต้นมะเขือเทศที่ปลูกใหม่ ผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการได้ผลประมาณ 80% ในการป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศได้

ประโยชน์ของการป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศจากเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากขยะครั้งนี้ พบว่ามีประสิทธิผลดีกว่าการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่ชาวไร่มะเขือเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสารจากธรรมชาติ จึงสามารถย่อยสลายได้ง่าย ไม่ก่อมลพิษต่อดินและน้ำ ขณะที่สารเคมีปราบศัตรูพืชต้องใช้เวลานานมากถึง 10-20 ปี จึงจะสามารถย่อยสลายได้

ผศ.ประสาท กล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนางานวิจัยในขั้นต่อไปจะผลิตสารสกัดจากเชื้อจุลลินทรีย์ที่คัดแยกจากขยะในรูปแบบผงแห้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผสมกับน้ำรดต้นกล้ามะเขือเทศให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรประหยัดต้นทุนในการซื้อสารเคมีป้องกันโรคในพืช และยาปราบศัตรูพืช
ผศ.ประสาท พบว่าในขยะมีแบคทีเรียที่มีประโยชน์สามารถป้องกันโรคต้นเกี่ยวของมะเขือเทศได้

มะเขือเทศมักเกิดโรคต้นเหี่ยว ซึ่งวิธีการป้องกันและแก้ไขของชาวไร่ มักใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช แก้ปัญหาและมักเกิดปัญหาต่อเนื่อง ทั้งสารพิษตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น