ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ม.เชียงใหม่ หนุนโครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน เพื่อลดการเผาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลัง 3 พื้นที่นำร่องโครงการปีแรกประสบความสำเร็จลดการเผาได้กว่า 40% แถมสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งของเหลือใช้ได้ดี
วันนี้ (28 ม.ค.) กลุ่มศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแถลงข่าวการดำเนินโครงการบูรณาการการฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการเผาโดยประชาชนมีส่วนร่วม หรือ โครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน เพื่อลดการเผาปีที่ 2 ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับโครงการนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิกฤตหมอกควัน อันมีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่งทุกชนิด โดยโครงการนี้ เป็นการเผยแพร่แนวความคิดของการนำของเหลือใช้ที่มักถูกนำไปเผามาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง หัวหน้าโครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน เพื่อลดการเผา กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปีที่ 1 ระหว่าง 1 ต.ค.2550-30 ก.ย.2551 ได้ดำเนินการใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนทานตะวัน เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 6 แบบ
ประกอบด้วย กระเป๋าถุงนม กระถางขี้เลื่อย ตะกร้าหญ้า เบาะนั่งเศษผ้า ภาชนะเกลียวคลื่นและกระเช้ารูปสัตว์จากเศษกระดาษ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดและผู้บริโภคเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง
ตามเป้าหมายการดำเนินการของโครงการในปีแรก ตั้งเป้าหมายที่จะลดการเผาในแต่ละพื้นที่ลงให้ได้ 30% และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 560 คน ขณะที่ผลการดำเนินการจริงสามารถลดการเผาได้ 42% และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,531 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย
สำหรับการดำเนินโครงการในปีที่ 2 หัวหน้าโครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน เพื่อลดการเผา กล่าวว่า มีการขยายพื้นที่โครงการเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ริม อำเภอแม่ริม องค์การบริหารส่วนตำบลริมเหนือ อำเภอแม่ริม เทศบาลตำบลดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสิ่งเหลือใช้ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษหนังจากโรงงานผลิตรองเท้า ไม้ไผ่ และเศษผ้า ตามลำดับ