เชียงราย – น้ำโขงแห้งเร็วกว่าปกติ เรือสินค้าขาล่องติดระนาว คาดจีนเดินหน้าทำแผนขุดลอกร่องน้ำใหม่เร็ววันนี้ ขณะที่ศุลกากรเชื่อมั่นไม่กระทบตัวเลขการค้าไทย-จีนที่เติบโตต่อเนื่อง ยืนยันระดับน้ำหน้าท่าเรือเชียงแสน 1 ยังรองรับเรือสินค้าได้ปกติ พร้อมเตรียมตอกเสาเข็มท่าเรือเชียงแสน 2 เดือนมีนาคม 52 นี้ กำหนดสร้างเสร็จปี 2554
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ในช่วงปลายเดือนนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่มีการใช้เดินเรือพาณิชย์ในกลุ่มประเทศ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-สปป.ลาว-พม่า-มณฑลหยุนหนาน จีนตอนใต้ ได้ลดต่ำลงจนเกิดเป็นตะกอนดินทรายอย่างรวดเร็วมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา เกิดปัญหาตะกอนดินทรายมาก จนทำให้การเดินเรือสินค้าประสบปัญหาไม่สามารถทำได้สะดวกหรือขนสินค้าได้เพียงเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 52 แล้ว
ขณะที่หลายปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม เป็นต้นไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม หรือต้นฤดูฝน ซึ่งได้ส่งผลทำให้เรือสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติจีนเกือบทั้งหมดกว่า 100 ลำ ต่างพากันไปติดสันดอนดินทรายทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าหรือมีปริมาณน้อยกว่าปกติมาก
นายอภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) จ.เชียงราย เปิดเผย "ASTVผู้จัดการ" ว่าในปีนี้การตื้นเขินของแม่น้ำโขง จนเกิดจากสันดอนดินทรายจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือสินค้าเกิดขึ้นบริเวณเมืองป่าเลียว ประเทศพม่า ชายแดนพม่า-สปป.ลาว เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปประมาณ 100-200 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากจุดเดิมที่เคยเกิดปัญหาในปีก่อนที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ระหว่าง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กับเกาะดอนซาว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่ปัจจุบันสามารถใช้เดินเรือได้ดี สาเหตุเพราะตะกอนดินทรายมีการเปลี่ยนแปลง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บริเวณแม่น้ำโขงตรงป่าเลียวมีร่องน้ำสำหรับเดินเรือขาล่องเพียงร่องเดียวทำให้เมื่อเกิดปัญหาเรือลำใดลำหนึ่งติดตะกอนดินทรายหรือเกยตื้นแล้วไม่สามารถขับเคลื่อนลงมาได้ ก็จะทำให้เรือลำอื่นๆ ต้องติดกันยาว ต้องรอให้คันหน้าหลุดพ้นไปก่อนเรือลำต่อไปจึงค่อยขับเคลื่อนตามมา ขณะที่เรือขาขึ้นไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะเรือขาล่องเดินตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้เรือแล่นมาด้วยความเร็วจึงเสี่ยงต่อการติดตะกอนดินทราย ส่วนเรือขาขึ้นค่อยๆ ประคองขึ้นไปช้าๆ จึงไม่เกิดปัญหา
โดยหลังเกิดปัญหาบรรดาคนเดินเรือจีนจะใช้เรืออีกลำช่วยกันชักลากเรืออีกลำไปพลางก่อน ส่วนในระยะยาวทางการจีนคงจะเป็นแกนนำในการจัดทำแผนเพื่อขุดลอก โดยผ่านทางคณะทำงานของคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (JCCCN:The Joint on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China,Laos,Myanmar and Thailand) ต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ซึ่งยังถือว่ามากกว่าระดับวิกฤติจนไม่สามาถรองรับเรือสินค้าที่กินน้ำลึกถึง 1.80 เมตร ทำให้ในภาพรวมยังสามารถเดินเรือได้ มีเพียงร่องน้ำติดเมืองป่าเลียวเพียงจุดเดียวเท่านั้นที่เกิดปัญหาเรือติดตะกอนดินทราย
นายอภิสิทธิ์ บอกว่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศจีนลงมาให้มากกว่านี้อาจจะไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะแม่น้ำโขงในภาพรวมทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่แล้วแต่ปัญหาอยู่ที่ตะกอนดินทรายที่สะสมมานานและต้องใช้การขุดลอกออกเท่านั้น
"ระดับน้ำในท่าเรือเชียงแสน 1 ถือว่าลึกและสามารถรองรับเรือได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ท่าเรือแห่งใหม่หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้สร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ห่างจากท่าเรือปัจจุบันไปทางขาล่องประมาณ 10 กิโลเมตร ได้มีการประมูลว่าจ้างเอกชนแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเอกชนจะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน มี.ค.2554 นี้เป็นต้นไป และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีหรือแล้วเสร็จในปี 2554" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายชัยวิทย์ วรคุณพินิจ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรเชียงแสน เปิดเผยว่าในปี 2551 ที่ผ่านมาการค้าชายแดนที่ อ.เชียงแสน ระหว่างไทย-จีน มีการนำเข้าสินค้า 1,232.53 ล้านบาท และส่งออก 6,431.22 ล้านบาท โดยสินค้าที่ส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควัน น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่มชูกำลัง ลำไยอบแห้ง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผักสด ทับทิมสด แอปเปิ้ลสด กระเทียม ฯลฯ สำหรับในปีนี้แม้แม่น้ำโขงจะแห้งเร็วกว่าปกติแต่เชื่อว่าตัวเลขจะไม่ลดลง เพราะเรือเกือบทั้งหมดเป็นสัญชาติจีนจึงน่าจะมีการแก้ไข เช่น การปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อให้ร่องเรือได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2550 ซึ่งตรงกับรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ด้วยงบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท ณ ปากแม่น้ำกก หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เนื้อที่ 402.3 ไร่ หลังจ่ายค่าชดเชยค่าที่ดินให้ชาวบ้าน 50 ล้านบาทเรียบร้อยเสร็จ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะย้ายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) องค์การอาหารและยา (อย.) ขน.ฯลฯ ไปยังท่าเรือแห่งใหม่
ส่วนท่าเรือปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวแทน เนื่องจากมีความแออัดและไม่สามารถขยายได้รวมทั้งยังอยู่กลางใจเมืองโบราณเชียงแสนซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับการกระทบกระเทือนจากรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ด้วย สำหรับท่าเรือแห่งใหม่จะออกแบบให้เว้าเข้ามาในเขตแม่น้ำกกของฝั่งไทยโดยมีขนาดใหญ่รองรับเรือได้มากกว่ารวมทั้งไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับ สปป.ลาว ด้วย