xs
xsm
sm
md
lg

สพท.3 เชียงรายจับมือองค์กรเอกชนเดินหน้าแก้ปัญหาเด็กไร้รัฐ-สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – สพท.เขต 3 มั่นใจอีก 3-4 ปี ปัญหาเด็กนักเรียนไร้รัฐ ไร้สัญชาติหมด หลังจับมือองค์กรภาคเอกชนสำรวจจัดกลุ่มเด็กชายขอบกว่า 1.43 หมื่นคนแล้วเสร็จ เตรียมชงเรื่องขอสัญชาติต่อ หลังนำร่องจากเด็ก 600 คน จนมีแนวโน้มได้สัญชาติถึง 300 คนแล้ว

นางสะอาด มีสวรรค์ ศึกษานิเทศ เขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 3 เปิดเผยว่า ในอดีตที่ผ่านมาพบมีเด็กที่ไม่รู้สถานะตัวเองหรือไม่มีรัฐและไม่มีสัญชาติเป็นจำนวนมากแม้แต่ครูประจำชั้นและชุมชนของชาวบ้านก็ไม่รู้เพราะพวกเขาเป็นคนชายขอบที่อาศัยอยู่บนป่าเขาห่างไกล ทาง สพท.เชียงราย เขต 3 จึงร่วมกับองค์กรแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลอิงค์ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

กระทั่งปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นเครือข่าย โดยมีหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้พวกเขาได้ปรึกษาหารือกัน สร้างขวัญกำลังใจ ทราบวิธีการดำเนินการเพื่อให้ได้สถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย การจัดหาหลักฐาน การยื่นหลักฐานต่อทางฝ่ายปกครอง ฯลฯ ในส่วนของ สพท.เชียงราย เขต 3 ก็มีการจัดทำหลักสูตรเพื่อมุ่งให้ความรู้กับเด็กด้วย

นายพรวิชฌ์ ธราพร ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่ภาคเหนือ องค์การแพลนประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลให้แต่ละโรงเรียนไปสำรวจสถานะของเด็ก แต่เด็กก็ไม่มีความรู้ ผู้ปกครองก็ไม่มีสัญชาติและโรงเรียนก็มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บข้อมูล

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2551 เราจึงนำร่องในเด็กประมาณ 600 คน ให้ออกมาแสดงตัวและแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มที่ยังไม่มีบัตรใดๆ เลย กลุ่มที่มีสิทธิยื่นคำขอสัญชาติตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 กลุ่มที่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ฯลฯ ปรากฎว่าได้เด็กกว่า 300 คนที่กำลังทำเรื่องเพื่อขอสัญชาติไทยได้แล้ว

ดังนั้น ปัจจุบันก็กำลังดำเนินการใรลักษณะเดียวกันกับเด็กอีกกว่า 14,300 คน ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดทำระบบสารสนเทศของฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็กทั้งหมด เพื่อให้ตรวจสอบได้และไม่มีการเพิ่มเติมไปจากนี้ได้อีกแล้ว

ด้าน นายสุนทร ยาละ รองผู้อำนวยการ สพท.เชียงราย เขต 3 กล่าวว่า ในพื้นที่มีโรงเรียนในรับผิดชอบจำนวน 173 แห่ง พบมีนักเรียนที่ไร้รัฐและไร้และไร้สัญชาติจำนวนประมาณ 14,300 คน สพท.เชียงราย เขต 3 และหน่วยงานในเครือข่ายจึงน้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ที่ว่า “เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยควรได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน” และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมตรีในปี 2548 ให้จัดการสถานะและสิทธิบุคคลด้วย

“ตอนนี้ขั้นตอนการสำรวจตัวเลขเสร็จสิ้นแล้ว และได้จัดให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนๆ ละ 11 คน ทำการอบรมและสร้างเป็นเครือข่ายในโรงเรียนนำร่อง 53 แห่ง ในอนาคตก็จะขยายต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าภายใน 3-4 ปีนี้ปัญหาเรื่องไร้รัฐและไร้สัญชาติก็จะทุเลาลง” นายสุนทร กล่าว
นางสะอาด มีสวรรค์ ศึกษานิเทศ เขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 3
กำลังโหลดความคิดเห็น