อุดรธานี - ธ.ก.ส.ร่วม อบต.คำด้วง อ.บ้านผือ เปิดศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครบวงจร ส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันฯภายใต้ทฤษฎีใหม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งแปรรูปขายได้ราคาดีกว่าวีธีการทำไร่มันฯ ดั้งเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครบวงจร ณ บ้านนาคำด้วง ต.นาคำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นายกฤษเพชร ศรีปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานเปิดโครงการ “การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครบวงจร”
นายธวัธ สุผลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คำด้วง กล่าวว่า กลุ่มผลิตมันสัมปะหลังคำด้วง ได้ยึดหลักทฤษฏีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการปรับปรุงสภาพดินโดยใช้เกษตรอินทรีย์เป็นหลักตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการผลิตมันสำปะหลังแบบดั้งเดิมให้ผลผลิตได้ไม่มากนัก ซึ่งการแปรรูปยังใช้วิธีใช้มีดสับ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ขณะที่เกษตรกรมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ต่อมาในปี 2549 ทางกลุ่มได้รับงบประมาณจาก อบต.ในการซื้อเครื่องแปรรูป ทำให้กลุ่มได้เส้นมันที่สะอาด จนได้รับรางวัล ในปี 2550 ทาง ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับ อบต.ทำโครงการเพิ่มผลผลิตมันมันสำปะหลังครบวงจร ทำให้กลุ่มมีผลผลผลิตมากขึ้น มันสำปะหลังมีคุณภาพดีขึ้น
สำหรับการเพิ่มผลผลิตมันมันสำปะหลังครบวงจรดังกล่าว มีสมาชิกที่สนใจใช้แปลงตนเองทดลองแล้ว 40 ราย รวมเนื้อที่ 80 ไร่ ซึ่งขั้นตอนในการผลิตนั้นเกษตรกรจะต้องมีการเตรียมดิน, การเตรียมพันธุ์, การปลูกให้ถูกวิธี, การใส่ปุ๋ยจุลินทรีย์ 12 ตระกูล, ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก, การดูแลรักษา ผลจากการทดลองของสมาชิก ปรากฏว่าได้ผลผลิต ไร่ละ 12 ตัน เทียบกับอัตราที่ปลูกแบบเดิม 3.6 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้น 8.4 ตัน/ไร่
ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 170 ราย และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว โดยการระดมเก็บเงินออมจากสมาชิก เดือนละ 50 บาท/ราย
ด้าน นายจิรศักดิ์ ศรีคชา นายอำเภอบ้านผือ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/52 นั้น อำเภอบ้านผือ มีผู้ปะกอบการลานมัน เข้าร่วมโครงการจำนวน 1 ราย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2552
กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้นั้น ได้มีจัดให้มีการสาธิตการเก็บผลผลิตมันสำปะหลังที่ทางกลุ่มคิดค้นขึ้นเอง การสาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสาธิตการตรวจแป้งของจุดรับจำนำ และการทำปุ๋ย จุลินทรีย์ 12 ตระกูล