xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู “สวนไม้ผลทฤษฎีใหม่เกษตรพอเพียง” กับรองผู้ว่าฯ กาญจนบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ตามไปเที่ยวสวนเกษตรกับรองผู้ว่าฯกาญจนบุรี “ชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ณ “สวนณัฐกำธร” หรือไร่ “ปูจ๋า” ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับชิมมะม่วง ให้อร่อยที่ “สวนไม้ผลทฤษฎีใหม่เกษตรพอเพียง”

ช่วงบ่ายของวันที่ 5 มกราคม 2552 ขณะที่รถยนต์ตู้สีขาว ซึ่งเป็นรถของคณะนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ขับออกตรวจตราพื้นที่ ตามถนนสาย ด่านมะขามเตี้ย-ท่ามะกา และเมื่อขับรถมาถึงบริเวณสวนเกษตรแห่งหนึ่ง ทางเข้าสวนมีป้ายเขียนว่า “สวนณัฐกำธร ณัฐพูลวัฒน์” (ปูจ๋า) เลขที่ 177/2 หมู่ 3 ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

คนขับรถของ นายชัยวัฒน์ ได้ขับเข้าไปในสวน ตามเส้นทางที่เป็นทางลูกรังกลางสวนผลไม้ที่มีต้นมะม่วงเรียงรายเป็นแถวยาวอย่างเป็นระเบียบ บ่งบอกให้เห็นว่าเจ้าของสวนผลไม้แห่งนี้ มีการเอาใจใส่ดูแลสวนเป็นอย่างดี ขับรถเข้าไปประมาณ 300 เมตร ก็ถึงบ้านของเจ้าของสวนเกษตร ซึ่งปลูกเป็นหลังเล็กๆ อย่างเป็นระเบียบ และมีโรงคัดแยกผลไม้อยู่ทางด้านขวามือของตัวบ้าน ซึ่งสร้างขึ้นหลังไม่ใหญ่มากนัก

ขณะที่รถยนต์ตู้ของคณะนายชัยวัฒน์ จอดเข้าที่และดับเครื่องของรถยนต์ตู้เรียบร้อย ก็มี 2 สามี-ภรรยา แต่งตัวมอมแมมทั้งคู่ เดินเข้ามาทักทาย นายชัยวัฒน์ และคณะ และได้เชิญทุกคนเข้าไปนั่งหลบแดดที่บริเวณโต๊ะยาวที่อยู่ใต้ต้นไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งจัดไว้อย่างเรียบง่าย

จากนั้น 2 สามี-ภรรยา ได้แนะนำตัวกับ นายชัยวัฒน์ นั่นคือ กำธร ณัฐพูลวัฒน์ อายุ 56 ปี และ จรูญ ณัฐพูลวัฒน์ อายุ 42 ปี ซึ่ง 2 สามี-ภรรยาคู่นี้ ก็คือ เจ้าของสวนผลไม้ที่มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ นั่นเอง

หลังจากแนะนำตัว จรูญ ได้ขอตัวเข้าไปในบ้านปล่อยให้สามีนั่งคุยกับคณะของนายชัยวัฒน์ ประมาณ 10 นาที คุณจรูญ ก็เดินออกมาจากบ้าน พร้อมกับจานผลไม้ซึ่งเป็นมะม่วงเขียวเสวย 3 จานใหญ่ ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ นำมาให้คณะนายชัยวัฒน์ ได้ชิมกันอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมกับน้ำเย็นคนละแก้วสองแก้ว หลังจากได้นั่งคุยกันพร้อมกับชิมรสชาดของมะม่วงเขียวเสวยจนอิ่ม 2 สามี-ภรรยา ได้นำคณะของนายชัยวัฒน์ ไปที่โรงคัดแยกมะม่วง ซึ่งมี 2 หนุ่ม-สาว กำลังคัดแยกมะม่วงอยู่อย่างขะมักเขม้น โดย กำธร ได้แนะนำให้ ทั้ง 2 หนุ่มสาวให้รู้จักกับคณะนายชัยวัฒน์ และ 2 หนุ่มสาวที่กำลังทำงานอย่างขยันขันแข็ง ก็คือ ลูกสาว และ ลูกชายของกำธร และ จรญ นั่นเอง

ลูกสาวชื่อ น.ส.ธิดารัตน์ หรือ “น้องปู-ณัฐพูลวัฒน์” อายุ 23 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี โปรแกรมนิเทศศาสตร์ (ประชาสัมพันธ์) ศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ส่วนลูกชายชื่อนายบัญชา หรือ “น้องช้าง- ณัฐพูลวัฒน์” อายุ 20 ปี กำลังศึกษาระดับ ปวส.ช่างยนต์ ศึกษาอยู่ที่ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี

เมื่อได้มีโอกาสได้นั่งคุยกับครอบครัว “ณัฐพูลวัฒน์” จึงได้ทราบที่มาที่ไปของครอบครัวนี้และเหตุที่มาของสวน “ณัฐกำธร ณัฐพูลวัฒน์” โดย จรูญ ผู้เป็นภรรยาเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ครอบครัวของเรานั้นมีอาชีพทำ “ไร่อ้อย” มาก่อน ซึ่งการทำไร่อ้อยนั้นช่วงแรกก็ไม่มีปัญหาอะไรมีกำไรจากการทำไร่อ้อยเกือบทุกปี แต่ต่อมาการทำไร่อ้อยจะต้องใช้คนงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี คนงานก็หายากขึ้น ซึ่งคนงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากภาคอีสานทั้งสิ้น ปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี แต่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น และนายหน้าที่หาคนงานให้นั้นก็จะต้องเบิกเงินล่วงหน้าไปก่อนโดยอ้างว่าเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายที่คนงานจะต้องมาปลูกอ้อยแต่กลับไม่มาตามนัดไว้ ครอบครัวของเราต้องไปหาคนงานใหม่ เงินค่าใช้จ่ายก็เริ่มหมดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องหยุดกิจการทำไร่อ้อยลง และเงินที่ต้องใช้จ่ายก็เหลือน้อยเต็มที

ส่วน กำธร ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากเจ๊งกับการทำไร่อ้อย ยังเหลือเงินอยู่อีกก้อนหนึ่ง จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ไร่อ้อยมาเป็นสวนผลไม้แบบผสมผสานทันที ซึ่งตอนที่ตัดสินใจทำสวนผลไม้แบบผสมผสานนั้น ไม่ได้คำนึงถึงมะม่วงสักเท่าไหร่ จะปลูกไม้ผลคือมะม่วงไว้จำนวนไม่มากนัก จะปลูกผลไม้ จำพวก ขนุน ทุเรียน ซะส่วนใหญ่

ส่วนไม้ยืนต้นนั้นมีทั้ง สักทอง, ยูคาลิปตัส, สนปฏิพัฒธ์,ประดู่ และปาล์มต่างๆแต่เมื่อทำไปทำมา ผลไม้ที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวกลับเป็น มะม่วง ที่ปลูกไว้เพียงนิดเดียวเท่านั้น จึงตัดสินใจโล๊ะ ทุเรียน และขนุนทิ้งเพื่อหันมาปลูก มะม่วงเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากว่า การทำสวนไม้ยืนต้นนั้นมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ “ให้ผลผลิตช้า” ดังนั้น ในช่วงที่ไม้ผลยังไม่ออกผลผลิตจึงเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา ครอบครัวของเราได้ปรึกษาหารือกันและตัดสินใจไปกู้เงินจาก “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร” (ธ.ก.ส.) ได้เงินมาจำนวน 300,000 บาท และจะต้องใช้หนี้ภายใน 7 ปี ตามระยะเวลาที่ทาง (ธ.ก.ส.)กำหนด ด้วยความมุมานะและคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรดีถึงจะนำเงินที่กู้มาจากธนาคาร (ธ.ก.ส.) ใช้หนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด

จากนั้นจึงตัดสินใจลองผิดลองถูก โดยการทาบกิ่งมะม่วงชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในไร่ ใช้เวลานานพอสมควร จนสิ่งที่พยายามนั้นประสบผลสำเร็จขึ้นมา คือการขยายกิ่งพันธุ์เพื่อนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นการสร้างรายได้โดยไม่ต้องรอผลผลิต และในที่สุดรายได้ที่ได้มาจากการจำหน่ายกิ่งพันธุ์นั้น สามารถนำเงินไปใช้หนี้ให้กับธนาคาร (ธ.ก.ส.) ได้ในระยะเวลาแค่ 2 ปี สร้างความภูมิใจให้กับครอบครัวของเราเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับบทเรียนที่ครอบครัวของคุณกำธรได้รับจากการทำไร่อ้อยนั้น ทำให้ปรับเปลี่ยนมุมมองได้ว่า การบริหารจัดการเรื่องแรงงานนั้น “ยิ่งมีแรงงานมากเท่าไหร่ ก็มีปัญหาและความยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น เพื่อความสบายใจในการทำงานครอบครัวของคุณกำธร จึงตัดสินใจ เดินไปด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ 4 คน พ่อแม่ลูก จนประสบผลสำเร็จสามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายตามท้องตลาดได้ทั้งในฤดูกาลและนอกฤดูกาล รวมทั้งเป็นสินค้าส่งออกไปขาย ยังต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน และ สิงคโปร์ มาจนทุกวันนี้”

กำธร ได้อธิบายว่า พื้นที่ปลูกมะม่วงมีทั้งหมด 200 ไร่ เป็นพื้นที่ของตัวเองจำนวน 60 ไร่ เป็นพื้นที่เช่าอีก 140 ไร่ ส่วนการทำสวนมะม่วงนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ 1.มะม่วงเปรี้ยว 2.มะม่วงมัน และ 3.มะม่วงสุก ภายในสวนนั้นจะมีมะม่วงเกือบทุกสายพันธุ์ เช่น มะม่วงเปรี้ยวได้แก่ พันธุ์โชคอนันต์, พันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วงมัน ได้แก่ พันธุ์เขียวเสวย, พันธุ์บางขุนศรี, พันธุ์ฟ้าลั่น และพันธุ์หนองแซง มะม่วงสุก ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง, พันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4, พันธุ์อกร่องพิกุลทอง, พันธุ์หนังกลางวัน และ พันธุ์แก้วลืมรัง

สำหรับการบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูกาล มีขั้นตอนและวิธีการบังคับอยู่ 5 ขั้นตอนหลักๆ คือ

1.ขั้นตอนการบำรุงต้น หลังจากการเก็บผลผลิตต้องทำการตัดแต่งกิ่ง ค่อยๆทยอยทำทีละแปลง โดยต้องกำหนดระยะเวลาในการให้ผลผลิตด้วย พยายามทำให้ผลผลิตออกในช่วงเดือนธันวาคมจึงจะได้ราคาดี สำหรับการบำรุงต้น ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ หรือ ยูเรีย หรือ 21-0-0 ขึ้นอยู่กับสภาพของต้นโดยให้สังเกตจากใบว่ามีสีเหลือง หรือสีเขียว

2.ขั้นตอนการเร่งให้แตกใบอ่อน ให้ฉีดปุ๋ยไธโอยูเรียเพื่อดึงยอดอ่อน

3.ขั้นตอนการราดสารบังคับ เมื่อใบอ่อนเปลี่ยนเป็นใบเพสลาดแล้ว ให้ราดสารพาโคลบิวทราโซลรอบๆ บริเวณโคนต้น รอระยะเวลาตามกำหนด ถ้าเป็นมะม่วงพันธุ์เบา 60 วัน ถ้าเป็นมะม่วงพันธุ์หนัก 90 วัน แล้วจึงฉีดปุ๋ยสูตร 0-52-34 อัตรา 2กก.ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดอาทิตย์ละประมาณ 3-4 ครั้งเพื่อเป็นการสะสมอาหารและการเปิดตา

4.ขั้นตอนการเปิดตาจะแบ่งออกเป็น 3 สูตร คือ 1.ฉีดโพแทสเซี่ยม+ไธโอยูเรีย+สาหร่าย อัตรา 15 กก.1.5 กก.2 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร 2. ฉีดไธโอยูเรีย อัตรา 5 กก.ต่อน้ำ 1,000 ลิตร และ 3.ฉีดโพแทสเซี่ยม 25 กก.ต่อน้ำ 1,000 ลิตร สำหรับการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของต้น แต่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้แต่สูตรที่ 1.เป็นหลัก ส่วนสูตรที่ 2. และ 3.จะฉีดเพียงครั้งเดียว แต่ก็ค่อนข้างเสี่ยงต่อการแตกใบอ่อน

5.ขั้นตอนการดูแลและรักษา หลังจากออกดอกแล้วก่อนที่ดิกจะบานให้ฉีดแคลเซี่ยมโบรอนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการแยกเพศของดอกให้ชัดเจน และอีก 1 เดือนมะม่วงก็จะติดลูกซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าจะขึ้นมากหรือน้อย หลังจากมะม่วงติดลูกแล้วก็ดูแลเฉพาะเรื่องของแมลงเท่านั้น

สำหรับต้นทุนในการผลิตต้องยอมรับว่าการทำสวนมะม่วงนั้นจะใช้สารชีวภาพเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องนำสารเคมีและชีวภาพมาใช้ในสวนแบบผสมผสานกันไป ซึ่งจากสวนมะม่วงของครอบครัว “ณัฐพูลวัฒน์” มีทั้งหมด 200 ไร่ มีต้นทุนประมาณ 9000,000 บาท ต่อปี ค่าเฉลี่ย 100 บาทต่อต้นต่อปี ใน 1 ไร่ มีมะม่วง 45 ต้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะได้ผลผลิตเต็มร้อยทุกต้น

ได้นั่งคุยกับครอบครัว “ณัฐพูลวัฒน์” นานพอสมควรจนพอจะเข้าใจและรู้เลยว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่มีความมุมานะและอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด โดยเฉพาะคุณกำธร และคุณจรูญ ซึ่งจบการศึกษาแค่ชั้น ป.4 ทั้งคู่ ได้กำลังใจที่ดีจากลูกทั้งสองคน คือน้องปู กับน้องช้าง และส่งลูกทั้งสองให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่ลูกทั้งสองต้องการ ส่วนอนาคตของลูกทั้งสองจะเลือกทำงานอะไรก็เป็นสิทธิ์ของลูกที่จะเลือกทำงาน สมควรแล้วที่ครอบครัว “ณัฐพูลวัฒน์” ได้รับรางวัลมากมาย เช่น “รางวัลเกษตรกรดีเด่น 5 ปี ซ้อนของจังหวัดกาญจนบุรี”

“”ชรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาสวนป่าประจำปี 2541 ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก (กรมป่าไม้)” “รางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาการปลูกสวนป่า ประจำปี 2539 ระดับเขตอำเภอบ้านโป่ง (กรมป่าไม้)” “รางวัลจากมูลนิธิจำเนียน สาระนาค (ธ.ก.ส.)เกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2540” และ “รางวัลจากกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรดีเด่นอาชีพทำสวนประจำปี 2537 รางวัลเป็นสนับสนุนงานด้านการผลิต และการเกษตรและตลาดของจังหวัดกาญจนบุรี” และสมควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทุกครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้

สำหรับ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และคณะหลังจากได้นั่งชิมมะม่วงเขียวเสวยอยู่ใต้ต้นไม้อยู่นานสองนาน ดูท่าทางคงจะอิ่มหนำสำราญพอสมควร ก่อนเดินทางกลับได้พูดคุยกับครอบครัว “ณัฐพูลวัฒน์” จะนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม “สวนณัฐกำธร” (ปูจ๋า) อีกครั้ง ซึ่งได้หารือกับเจ้าของสวนคือกำธร และจรูญ แล้ว เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของสวน

สำหรับผู้ที่สนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือต้องการมาศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปพัฒนาและนำไปประกอบเป็นอาชีพสามารถติดต่อได้ที่ (สวนณัฐกำธร ณัฐพูลวัฒน์) เลขที่ 177/2 หมู่ 3 ต.หนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี รหัส 71000 หรือโทร. 089-5511407, 084-4132826 fax 034-644030








กำลังโหลดความคิดเห็น