เชียงราย - มรดกบาปรัฐบาล"สมชาย"ทำพิษ ม็อบข้าวโพดฮึ่ม กดดัน"มาร์ค"รับจำนำหลังปีใหม่
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย (31 ธ.ค.) แจ้งว่า ภายหลังกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดใน จ.เชียงราย ได้ก่อเหตุปิดถนนหลายแห่งใน จ.เชียงราย เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลชุดก่อนนำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนระบบการรับจำนำแบบกะทันหันจากเดิมให้รับจำนำข้าวโพดไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2552 ก็หันมาใช้การจำกัดโควต้าให้ได้ในปริมาณ 500,000 ตัน ทำให้ไซโลที่รับจำนำหลายแห่งใน จ.เชียงราย ประกาศหยุดรับซื้อในวันที่ 15 ธ.ค.ทั้งๆ ที่เกษตรกรจำนวนมากอยู่ระหว่างขนผลผลิตไปยังไซโล ต่อมาทางจังหวัดได้เจรจาโดยนำข้าวโพดที่ชาวบ้านขนมาจำนวน 724 ตัน ไปฝากเอาไว้ก่อนที่ไซโลของบริษัทเชียงรายกิจศิริไซโล 1995 จำกัด ต.ปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขนั้น
ล่าสุดแกนนำผู้ปลูกข้าวโพดที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้มีการหารือกันล่วงหน้าแล้ว เพื่อเตรียมมาตรการในการออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทำการสานต่อโครงการรับจำนำตามราคาเดิมที่รัฐบาลเก่าได้วางเอาไว้ตามเดิมคือให้รับจำนำไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2552 โดยไม่จำกัดปริมาณ และรับซื้อในราคารับประกันเดิมคือความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 5.95 บาท ความชื้น 20.1% กิโลกรัมละ 7.21 บาท เป็นต้น
ในช่วงที่มีการหารือปรากฏว่าบรรดากำนันและผู้ใหญ่บ้านหลายคนโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง อ.พญาเม็งราย อ.เทิง ฯลฯ ต่างมีความกังวลว่ากับกระแสข่าวที่ว่ากำลังถูกทางฝ่ายปกครองของจังหวัดเพ่งเล็ง เนื่องจากเป็นกลจักรสำคัญในการพาชาวบ้านออกมาเรียกร้องปิดถนนในครั้งก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากมีการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าทางจังหวัดไม่ได้เพ่งเล็งแต่อย่างใด แต่มาจากการปลุกปั่นของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมจากกลุ่มเกษตรกร
นายสมบัติ นิลประภา แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จ.เชียงราย กล่าวว่า เดิมแกนนำได้หารือกันและจะออกมาเคลื่อนไหวหลังรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายแต่เมื่อฟังการแถลงนโยบายเกี่ยวกับการเกษตรก็พบว่านายกรัฐมนตรีบอกจะสานต่อการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว ทำให้พวกเราจะรอดูท่าทีกันต่อไปตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 2552 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะใกล้ระยะเวลาที่พวกเราได้นำข้าวโพดไปฝากกับไซโลตามข้อตกลง 1 เดือนดังกล่าว
"การปลุกปั่นก่อนหน้านี้เชื่อว่าคงเป็นการเมือง ซึ่งพวกเรายืนยันว่าพวกเราไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าเหลืองหรือแดง ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นหลักเท่านั้น" นายสมบัติ กล่าวและว่า
สำหรับข้าวโพดที่นำไปฝากเอาไว้จำนวน 724 ตันดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรยังคงเรียกร้องเหมือนเดิมคือให้รัฐบาลใหม่รับจำนำในราคาเดิม เพราะราคาตามท้องตลาดตกต่ำโดยความชื่น 20% ซึ่งเป็นระดับที่ชาวบ้านคงทำได้ดีที่สุดมีราคารับซื้อตามท้องตลาดได้เพียง 4.80 บาทเท่านั้น ส่วนข้าวโพดที่อยู่นอกจำนวนที่เอาไปฝากไว้ดังกล่าวก็ขอให้รัฐบาลรับจำนำตามราคารับประกันเดิมไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2552 สาเหตุเพราะก่อนที่รัฐบาลใหม่จะมีมาตรการใดๆ ออกมา กลุ่มเกษตรกรก็พากันเทขายให้กับพ่อค้าทั่วไปกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะไม่สามารถทนรอการรับจำนำครั้งใหม่ได้ จึงคาดว่าจะเหลือผลผลิตจริงๆ อยู่ไม่ถึง 50,000-100,000 ตัน และหลังกลางเดือน ม.ค.2552 เป็นต้นผลผลิตทั้งหมดก็คงจะถูกเก็บเกี่ยวจนหมดตามฤดูกาล
รายงานข่าวจากสำนักงานเกษตร จ.เชียงราย แจ้งว่าตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ย.2551 พบว่าพื้นที่ จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดรวมกันทั้งหมดประมาณ 628,820 ไร่ และเมื่อถึงช่วงปลายปีมีผลผลิตรวมกันกว่า 374,037 ตัน สาเหตุเพราะราคาผลผลิตในปี 2550 ขึ้นสูงทำให้มีการปลูกกันมากแต่แล้วราคาก็ตกต่ำลง กระทั่งเกิดการปิดถนนและรัฐบาลชุดเก่าเข้าแทรกแซงราคาด้วยการรับจำนำดังกล่าว