ฉะเชิงเทรา - กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด ของการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายท่าอากาศสุวรรณภูมิ – ฉะเชิงเทรา
นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กรมทางหลวง และ จังหวัด ร่วมกับบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัทไทย เอ็มเอ็ม จำกัด และ บริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด ดำเนินการจัด ประชุมหารือกันถึงความก้าวหน้าของโครงการ หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก แนวเส้นทางที่เหมาะสม และผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ของโครงการทางหลวงแนวใหม่ สายท่าอากาศสุวรรณภูมิ – ฉะเชิงเทรา จัดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่โครงการ เพื่อนำไปศึกษาและปรับปรุงแนวเส้นทางเลือก ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นมากที่สุด
ทั้งนี้ การคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม ได้พิจารณาจากปัจจัยทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและการขนส่ง ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลการคัดเลือกสรุปได้ว่า แนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นแนวเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรมากที่สุด การเชื่อต่อโครงข่ายปัจจุบันกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 มีความสะดวกในการเข้าถึง และให้ผลประโยชน์ในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์
รวมถึงประหยัดเวลาในการเดินทางมากกว่า แนวเส้นทางเลือกอื่นๆ
แนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 7 ) ประมาณกิโลเมตรที่ 17 และจุดปลายทางอยู่ทางด้านใต้ของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา โดยบรรจบกับแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสระบุรี – บางปะกง จากจุดเริ่มต้น แนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออก เลียบทางรถไฟตะวันออก ผ่านแขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านตำบลหลวงแพ่ง ตำบลคลองอุดมชลจร ตำบลคลองเปรง ตัดข้ามทางรถไฟบริเวณสถานีรถไฟบางพระ และสิ้นสุดแนวเส้นทางในเขตตำบลดอนทราย อำเภอบ้านโพธิ์ จังวัดฉะเชิงเทรา โดยจะบรรจบกับแนวเส้นทางของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสระบุรี-บางปะกง รวมระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร
การจัดประชุมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจเป็นอันมากจากกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่โครงการ ได้แก่ ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบลตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ที่ให้ความสนใจในโครงการ