xs
xsm
sm
md
lg

ขยับเข้าใกล้กันทุกทีแล้ว ดาวพฤหัสเคียงดาวศุกร์ ก่อนถึงวันประกบเดือนเสี้ยวเป็นหน้าคนยิ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - เข้าใกล้กันทุกทีแล้ว ดาวพฤหัสเคียงดาวศุกร์ ก่อนถึงวันประกบเดือนเสี้ยวเป็นใบหน้าคนยิ้มต้นเดือนหน้า ถึงวันนี้มองเห็นได้อยู่บนท้องฟ้าไม่ห่างกันเพียง 4 องศา

เวลา 00.30 น. วันนี้( 29 พ.ย. 51) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า จากการที่จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงคู่ดาวศุกร์ และมีดวงจันทร์เสี้ยวขึ้นอยู่ด้านล่าง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ หลายคนจินตนาการว่าจะคล้ายกับใบหน้าของคนกำลังอมยิ้มอย่างมีความสุข อยู่บนฟากฟ้าในช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 17.00-21.30 น. โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว

โดยสามารถมองเห็นดาวศุกร์อยู่เคียงข้างกับดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้กันเพียง 2 องศา และจะมีดวงจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ อยู่ด้านล่างของดาวทั้งสองดวง ห่างกันเพียง 2 องศาอีกเช่นกัน พร้อมกันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ Earth shine คือ ปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกและสะท้อนไปยังดวงจันทร์ จึงทำให้ดวงจันทร์ในคืนวันขึ้น ๓ ค่ำ ที่ปกติจะต้องมองเห็นเป็นจันทร์เสี้ยว แต่กลับจะมองเห็นเป็นจันทร์เต็มดวง ซึ่งสวยงามมากในวันนั้น

สำหรับในเวลาพลบค่ำที่ผ่านมาของคืนวันนี้ ดาวพฤหัสบดี กับดาวศุกร์เริ่มที่จะเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกขณะตามลำดับ โดยอยู่ห่างกันเป็นระยะเชิงมุมไม่เกิน 4 องศา หรือความกว้างขนาดของนิ้วหัวแม่มือ2นิ้วประกบกัน ที่มองเห็นเมื่อยืดแขนออกไปข้างหน้า การปรากฏใกล้กันของดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นเพียงมุมมองจากพื้นโลกขึ้นไปเท่านั้น ส่วนในความเป็นจริงแล้ว ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้อยู่ห่างกันในอวกาศมากถึง 760 ล้านกิโลเมตร

นายวรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. 51 ขณะที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ในเมืองไทย และแถบทวีปเอเชียจะมองเห็นเหมือนกับใบหน้าคนยิ้มอยู่บนท้องฟ้าดังกล่าว แต่ในวันเดียวกันนี้ ในทางทวีปยุโรปทั้งหมดจะเห็นเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์พอดี ส่วนในอเมริกา ดวงจันทร์จะอยู่เลยสูงขึ้นไปจากดาวทั้งคู่
กำลังโหลดความคิดเห็น