ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ระบุปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนก่อนส่งท้ายปลายปีนี้ ดาวศุกร์จะเปล่งแสงสีแดงออกส้ม ขณะดาวพฤหัสฯ จะมีประกายแสงเป็นสีขาวนวล ลอยเด่นเห็นคล้ายคบเพลิงอยู่บนท้องฟ้า
เวลา 01.00 น.วันนี้ (11 ธ.ค.51) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในช่วงค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดินของคืนวันที่ 29 ธ.ค.51 จะมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือ Conjunction เกิดขึ้นอีกครั้งใกล้ขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตก ขณะที่วันเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์จะเป็นพระจันทร์เสี้ยวขึ้น 3 ค่ำ อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius)
โดยจะมีดาวพฤหัสบดีเข้ามาอยู่ใกล้ในลักษณะเคียงคู่ด้านข้าง ในตำแหน่งประชิดทางด้านขวาของดวงจันทร์ เมื่อมองจากพื้นโลกจะเห็นในระยะ 32 ลิปดา (1 องศา เท่ากับ 60 ลิปดา) พร้อมกับเปล่งแสงประกายเจิดจ้าออกมาเป็นสีขาวนวล ในระดับความสว่างที่ลบ -1.93 แมกนิจูดอยู่เคียงข้าง โดยที่ดวงจันทร์ในคืนวันนั้นจะมีความสว่างอยู่ที่ลบ -8.93 แมกนิจูด ขณะเดียวกันบนดวงจันทร์ก็จะเกิดเงาแสงอาทิตย์ ที่ส่องมายังโลก สะท้อนขึ้นไปยังดวงจันทร์ จนเห็นคล้ายกับพระจันทร์เต็มดวง หรือปรากฏการณ์เอิร์ธชายน์ (Earth shine) เหมือนกับคืนวันเกิดปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (1 ธ.ค.)
โดยที่จะมีดาวพุธขึ้นมาปรากฏอยู่ในมุมทางด้านล่างของดวงจันทร์ ห่างลงมาอีกเพียง 1 องศา 40 ลิปดา พร้อมกับจะมีแสงที่เปล่งออกมาเป็นประกายสีแดงออกเหลืองส้ม ที่ความสว่างลบ -0.69 แมกนิจูด ซึ่งหากมองดูปรากฏการณ์ทั้งสามรวมกันแล้วจะดูคล้ายกับคบเพลิงลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้ผู้สนใจสามารถติดตามสังเกตการณ์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางด้านทิศตะวันตก ตั้งแต่เวลา 17.58 น. หลังจากดวงอาทิตย์ตกดินไปจนกระทั่งถึงเวลา 19.25 น. หรือมีเวลาให้ติดตามดูได้ประมาณ 1 ชม.
ขณะที่อุปสรรคในการเฝ้าติดตามชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้นั้น เนื่องจากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่ใกล้ขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ในมุมเฉียงใกล้กับระนาบแนวนอน ผู้สังเกตการณ์ควรจะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีตึกบัง หรือขึ้นไปเฝ้าติดตามเฝ้าดูอยู่ในที่สูง