อุบลราชธานี- ธุรกิจค้าทอง จ.อุบลฯ สุดเหงา การซื้อ-ขายไม่คึกคัก เหตุนักเก็งกำไรติดหล่มซื้อทองเก็บไว้ในราคาสูง แต่มั่นใจตลาดช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีหน้า การค้าทองคำจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ระบุ ราคาทองน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว เตรียมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯลามเข้าไทย ปรับปรุงร้านป้องกันปล้นชิงทองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
นายสรายุทธ โหตระไวศยะ เจ้าของห้างทองยิ่งไพบูลย์ ในฐานะประธานชมรมผู้ค้าทองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ภาพรวมตลาดซื้อขายทองคำทั้งทองรูปพรรณและทองแท่งที่ จ.อุบลราชธานี เป็นไปด้วยความเงียบเหงามาก เนื่องจากกลุ่มมีผู้ซื้อทองคำไว้ตั้งแต่ราคาสูงเฉลี่ยบาทละ 14,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาทองคำลดลงมาเหลือบาทละ 12,400 บาทเศษ ทำให้นักเก็งกำไรต้องเก็บทองไว้กับตัวไม่รีบขายออก เพื่อไม่ให้ขาดทุนจากราคาทองคำ เป็นปัจจัยลบ ทำให้ตลาดซื้อขายทองคำในจังหวัดเงียบเหงากว่าช่วงเดียวกันของทุกปี
สำหรับการซื้อทองคำไว้เก็งกำไร นักสะสมทองคำจะซื้อเป็นทองคำแท่งตั้งแต่ราคา 5-15 บาท ส่วนทองคำแท่งชนิด 1-2 บาท จะซื้อมอบให้เป็นของขวัญ ส่วนนักเก็งกำไรราคาทองคำระบุไม่ได้ว่า มีประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดการซื้อขายทองทั้งหมดในจังหวัด แต่คาดว่ามีจำนวนไม่น้อย เพราะปัจจุบันหาซื้อทองคำเก่าไม่ได้ จึงเชื่อว่าทองคำเหล่านั้นอยู่ในมือของกลุ่มบรรดานักเก็งกำไร ที่รอจังหวะนำออกมาขาย เมื่อราคาทองคำมีราคาดีขึ้นกว่านี้
“เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ค้าขายทองคำในเดือนธันวาคมปีนี้ ต่อเนื่องถึงต้นปี 2552 การซื้อขายทองคำจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะราคาทองคำปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าราคาทองคำเมื่อปลายปี 2550 อย่างมาก ประกอบกับช่วงปลายปีถึงต้นปี มีเทศกาลสำคัญหลายเทศกาล จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการซื้อขายทองคำมากขึ้น” ประธานชมรมผู้ค้าทองเมืองอุบลราชธานี กล่าวและว่า
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำของประเทศสหรัฐฯ และเริ่มส่งผลถึงประเทศไทย ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น ทางชมรมผู้ค้าทองมีการประชุมวางมาตรการป้องกันตัวเอง โดยร้านจำหน่ายทองที่ติดตั้งโครงเหล็กอะลูมิเนียมใช้เป็นเครื่องกีดขวางการบุกชิงทอง รวมทั้งติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดไว้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคนแปลกหน้า หมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างให้อยู่ในสภาพใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ป้องกันการบุกเข้าโจรกรรมทองในช่วงเศรษฐกิจขาลง
ขณะที่การค้าทองคำกับประเทศเพื่อนบ้าน ประธานชมรมผู้ค้าทองเมืองอุบลราชธานี ระบุว่า ไม่มีการค้าทองกับประเทศเพื่อนบ้านแถบชายแดนด้านนี้ เนื่องจากคนลาวไม่นิยมทองคำรูปพรรณจากประเทศไทย ซึ่งมีลวดลายสวยงามกว่าทองรูปพรรณของประเทศลาว เพราะคนลาวยังชอบทองคำในรูปแบบเอกลักษณ์ของตัวเองที่มีสีแดงสด และมีเปอร์เซ็นต์ของเนื้อทองคำมากกว่าทองคำจากประเทศไทย