พิษณุโลก – กรรมการธิการฯ ป.ป.ช. บุกตรวจ “ฝายแม้ว”ทุ่งแสลงหลวง หนึ่งใน 119,600 แห่งทั่วภาคเหนือ ไล่บี้ความผิดตั้งแต่นโยบาย “รัฐบาลสมัคร”อ้างโลกร้อน ผันเงินไปทำฝาย 770 ล้านบาท แต่โอนกลับเป็นส่วยให้กับบิ๊ก รมต.-ขรก. สอบ ผอ.สำนักอนุรักษ์ 11 ให้แจงข้อเท็จจริง ไม่สนปลาเล็ก
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกตรวจสอบการสร้างฝายต้นน้ำ หรือ ฝายแม้ว โดยนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลกและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในเขต 3 จังหวัดคือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ชี้แจงข้อมูล พร้อมกับนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กรรมาธิการงบประมาณ และนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบฝายแม้ว หมู่ 15 และ 20 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง พิษณุโลก ในเขตอุทยานทุ่งแสลงหลวง ตลอดวันที่ 7 พ.ย.51 ที่ผ่านมา
ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้รับข้อร้องเรียนพบการทุจริตฝายแม้ว ตรวจสอบแล้วก็พบว่า ผิดตั้งแต่นโยบายของรัฐบาลสมัคร จากที่แถลงนโยบายไว้ ก็ไม่ได้กล่าวถึง การสร้างฝายต้นน้ำ(ฝายแม้ว) ระบุแค่ปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อน อีกทั้งการสร้างฝายไม่ได้อยู่ในแผนของกรมอุทยานฯ แต่กลับเปลี่ยนโครงการกระทันหัน ทำให้งบประมาณ 2551 กรมป่าไม้ได้รับ 200 ล้านบาท และในส่วนกรมอุทยานฯ ได้รับ 800 ล้านบาทใช้เป็นค่ารับพนักงานใหม่ 30 ล้านบาท ที่เหลือ 770 ล้านบาทนำไปสร้างฝาย 119,600 แห่ง กระจายอยู่ภาคเหนือทั้งหมด ตามสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 5 แห่ง ,สำนักฯ 11 พิษณุโลก ,สำนักฯ 13 แพร่ ,สำนักฯ 14 ตาก ,สำนักฯ 15 เชียงราย และสำนักฯ 16 เชียงใหม่ พร้อมกับปลูกหญ้าแฝก 100 ล้านกล้า
จากที่ลงพื้นที่วันนี้ ตั้งข้อสังเกตคือ การสร้างฝายไม่ครบ การเบิกเงินค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามแผน ฝายราคา 5 พันบาท จ่ายจริงไม่น่าจะถึง เป็นที่ชัดเจนว่า การสร้างฝายไม่เป็นไปตามสเปก บางฝายเป็นดินล้วนๆ บางฝาย ใช้ตาข่ายหิน ที่ใช้ไม้ไผ่และหินในพื้นที่ และประเด็นสำคัญผู้ใหญ่มักชอบอ้างกันว่า เป็นโครงการพระราชดำริแล้วบอกว่า ไม่มีการโกง ฉะนั้นวันนี้ต้องถามความรับผิดชอบ เหตุโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนที่สั่งตรงมาจากส่วนกลาง โดยข้าราชการระดับสูงระดับอธิบดี และระดับรัฐมนตรี
ประธานคณะกรรมการธิการฯกล่าวยืนยันอีกว่า จะตรวจหาหลักฐานสาวไปถึงระดับรัฐมนตรี และนำเสนอข้อมูลต่อปปช.และ สตง. แต่วันนี้จะต้องถามความรับผิดชอบ ต่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เช่นเดียวกับนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า ข้อให้ข้าราชการที่สุจริต ส่งข้อมูลต่อกรรมาธิการ เพื่อที่จะสาวความผิดถึงตัวรัฐมนตรี
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.ประชาธิปัตย์พิษณุโลก คณะกรรมการกรรมาธิการงบประมาณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ป่าไม้เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งของโครงการทุจริต ทราบว่าโครงการนี้มีการเรียกเก็บเงิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของการสร้างฝาย 5 พันบาท ส่งเงินส่วยไปให้ระดับบน เมื่อสร้างเสร็จ ก็ต้องมาสร้างหลักฐานการเบิกจ่ายให้ครบ ชาวบ้านที่ควรได้ค่าแรง 150 บาท ก็ได้แค่ 50 บาท ปัญหาเริ่มมีกลิ่นเหตุเร่งแปลงงบเร่งด่วนกลางปี 800 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลสมัครเพื่อให้โครงการนี้เริ่มได้ในเดือนเมษายน 2551
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก เปิดเผยว่า ผมทำงานตามรับคำสั่งจากอธิบดีกรมอุทยานฯ วันนี้ขอยันยันว่า ฝายแม้วของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 จำนวน 24,500 แห่ง ก่อสร้างครบทุกตัว ยืนยันทุกฝายได้จากภาพถ่ายและข้อมูลป้ายที่ระบุหมายเลขฝายลงระบบคอมพิวเตอร์เรียบร้อย ส่วนที่บางฝายที่เสียหายก็เพราะน้ำป่าปีที่ผ่านมา แต่ฝายแม้วอีกจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้