ศูนย์ข่าวขอนแก่น- แบงก์ชาติอีสาน เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจภาคอีสานไม่รุนแรง เหตุพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก แต่รับอาจได้รับผลกระทบกับอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก พร้อมตั้งทีมเจาะข้อมูลช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล แนะภาคธุรกิจไม่ประมาทเตรียมพร้อมรับมือ วอนประหยัดประหยัดใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเงินล่วงหน้า
นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) เปิดเผยว่า ผลจากวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนกันยายน ขยายตัวไปยังประเทศยุโรป แม้ว่าจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อไทยในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบในแง่การส่งออก การท่องเที่ยว การไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง
ส่วนผลกระทบกับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อว่า จะไม่เกิดผลกระทบมากนัก เนื่องจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก มีการผลิตในภาคเกษตรสูงมาก ส่วนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจมีสัดส่วนต่ำมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯในครั้งนี้มากนัก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในด้านการจ้างงาน อาจได้รับผลกระทบบ้างจากกรณีที่มีโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปิดตัวลง โดยเฉพาะการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อาจปิดกิจการ ซึ่งจะมีแรงงานคืนถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก เชื่อว่าภาคการเกษตร จะมารองรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน บรรเทาความเดือดร้อนได้ คาดว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นประมาณต้นปี หรือกลางปี 2552 นี้
ทั้งนี้ นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ จะยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพคล่องประเทศ พร้อมกับติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดในการติดตามดูแลเรื่องแรงงานและการส่งออก โดยธปท.สภอ.จะหารือกับผู้ประกอบการในภาคอีสาน ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา
การติดตามช่วยเหลือผู้ประกอบการ ธปท.สภอ.จะเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะติดตามข้อมูลรายบุคคลในจังหวัดใหญ่ ทั้ง ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และ ชัยภูมิ ที่มีการลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า เน้นการติดตามดูแลเรื่องแรงงานและการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นจุดหลัก
นอกจากนี้ ธปท.สภอ.จะเข้าไปหารือกับหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงข้อมูลปัญหา สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นข้อมูลนำเสนอสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือ
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ภาคธุรกิจควรเตรียมความพร้อม โดยวางแผนการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ บริหารสภาพคล่องให้เพียงพอ บริหารสต็อกสินค้า และการจ้างแรงงานให้เหมาะสม สำหรับการลงทุนในระยะต่อไปควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดต่างประเทศ และไม่ควรคาดเดาแนวโน้มราคาสินค้าตามกระแสของตลาดเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากเศรษฐกิจยังผันผวน
ส่วนประชาชนควรระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งวิธีการหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ ด้วยการใช้เทคนิค บันทึกค่าใช้จ่าย หรือจดแล้วไม่จน ซึ่งจะสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ นอกจากนี้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการใช้เงินในอนาคต หลีกเลี่ยงการก่อหนี้สิน และมีความรอบคอบในการใช้บัตรเครดิต