เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แม้จะเคลื่อนไหวในพื้นที่เชียงใหม่มานาน แต่เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจริงๆ เมื่อหลัง 14 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง จากคำพูดหมิ่นเหม่บนเวทีปราศรัยที่ทำให้เขาถูกกองทัพบกส่งนายทหารแจ้งความ ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลานี้
การเคลื่อนไหวของ เพชรวรรต ในยุคที่ คมช.เรืองอำนาจ เป็นหนังคนละม้วนกับยุคที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล เพราะในยุคทหารคุม เขาแอบตัวเองอยู่หลังฉากเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนรักทักษิณที่ให้ดีเจปากกล้าเป็นผู้ออกหน้า แต่หลังจากที่พรรคชาวเหนือได้เป็นรัฐบาล เขาออกมาสวมเสื้อแดงนำหน้ามวลชน ด้วยลีลาที่ห้าว ดุเดือด ตาต่อตา พร้อมยกพวกไปปะทะกับฝ่ายเสื้อเหลืองในทุกโอกาส
ห้าวถึงขนาดยกพวกไปราวีหมอที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (รพ.สวนดอก) ถึงขั้นไล่ทุบเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่อหน้าตำรวจ
ด้วยผลงานที่โดดเด่นล้ำหน้าเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ในภาคเหนือ เพชรวรรต เริ่มมีงานเข้ามากขึ้น เริ่มจากเขาถูกวางตัวจากกุนซือใหญ่ “ยุทธ ตู้เย็น” ให้เป็นศูนย์กลางกระจายข่าวสาร เชื่อมกระชับฐานมวลชนคนรักทักษิณ ใช้วิทยุชุมชนคลื่น 90.5 Mhz เป็นศูนย์กลางเพื่อทั้งรุกไปสู่ผู้ฟัง และใช้เป็นช่องทางตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้าม
แม้เขาจะไม่มีเงินมากเพราะธุรกิจกำลังซวนเซ แต่น่าแปลกใจที่ล่าสุดได้ลงทุนขยายคลื่นวิทยุให้เป็นเครือข่ายคลุม 4 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย ทั้งกำลังลงทุนทำวิทยุอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าการที่มีนายทุนไม่ประสงค์ออกนามควักกระเป๋าอุดหนุนการลงทุนสร้างเครือข่ายสื่อสารกับมวลชนรากฐานรอบนี้มีไว้เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่อาจจะมาถึงในเวลาอันใกล้
ล่าสุด เขาประกาศยกพลเสื้อแดงภาคเหนือไปกรุงเทพฯ ร่วมชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยยังไม่ทิ้งห้าว ประกาศบนเวทีปราศรัยคืนวันที่ 27 ตุลาคมบอกว่าก่อนจะไปจะต้องเอาเรื่องกลุ่มนายแพทย์โรงพยาบาลมหาราชฯ (สวนดอก) ที่ประกาศไม่รับรักษาตำรวจโดยบอกจะไปให้ถึงคลินิก ต่อจากนั้นก็ประกาศจะเอาเรื่องเป็นบทสั่งสอนต่อนางเบญจมาศ ยุทธวิริยา สาวมือตบที่บุกเดี่ยวขึ้นดอยสุเทพเมื่อหลายวันก่อนให้ได้ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ
ด้วยลีลาห้าวสุดๆ เช่นนี้ เพชรวรรตจึงผงาดขึ้นเป็นหัวหอกงานมวลชนเสื้อแดงหมายเลข 1 ของเชียงใหม่ และยังก้าวข้ามไปถึงลำพูน ลำปาง ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากการหนุนช่วยของพรรคการเมืองรัฐบาลที่กำลังเตรียมความพร้อมเลือกตั้งใหม่
เปิดปูม : จากเด็กยองลำพูน สู่เสี่ยโรงแรมเชียงใหม่
เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล เกิดเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ.2500 ปัจจุบันอายุ 51 ปี หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 3510101086xxx ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน 64 ถนน อินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เชียงใหม่ หมู่โลหิต บี. ส่วนสูง 162 ซม.
เดิมนายเพชรวรรต ใช้ชื่อสกุลว่า นายนิติวัตติ บุตรดา เป็นบุตรนายสม และนางคำ บุตรดา ภูมิลำเนาเดิม 27/1 หมู่ 2 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นตระกูลเชื้อสายคนยอง ซึ่งเป็นชนพื้นถิ่นของจังหวัดลำพูน (อพยพมาจากเมืองยอง ในยุคต้นรัตนโกสินทร์)
3 กรกฎาคม 2535 เปลี่ยนนามสกุลจากบุตรดา มาเป็นวัฒนพงศศิริกุล ตามหนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อเลขที่ 1/2535 ที่ว่าการกิ่งอำเภอบ้านธิ ซึ่งเวลานั้นเขาเริ่มทำธุรกิจของตนเองหลังจากเปลี่ยนอาชีพหลายอย่างก่อนหน้าและเปลี่ยนชื่อจาก นิติวัตติ เป็น เพชรวรรต เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549
จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.สายรุ้ง ยะอนันต์ เกิด พ.ศ.2507 ภูมิลำเนาเดิม 32/1 หมู่ 3 ตำบลอุโมงค์ อ.เมือง จังหวัดลำพูน เมื่อ 28 พ.ค.2535 ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง เชียงใหม่
ในช่วงก่อนปี 2537 นิติวัตติ หรือ เพชรวรรต เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว แรกทีเดียวไม่ได้อยู่ที่ 64 ถนนอินทวโรรส ซึ่งเป็นที่อยู่ปัจจุบัน โดยพักอยู่ที่ ต.หนองหาร อ.สันทราย เชียงใหม่ โดยธุรกิจแรกที่จดทะเบียนการค้า คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชานิวัติ คอนสทรัคชั่น จดทะเบียนเมื่อปี 2529 ใช้ชื่อพี่น้อง คือ นายแสวง บุตรดา และ นายวิบูลย์ บุตรดา มาร่วมเป็นหุ้นส่วน แต่แท้จริงเป็นกิจการส่วนตัว
จนกระทั่งปี 2537 จึงย้ายมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันคือ 64 ถนนอินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมวโรรส แกรนด์พลาซ่า (ชาวบ้านเรียกว่า แกรนด์วโรรส)
ไม่มีรายงานชัดเจนว่า เหตุของการย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันมาจากการซื้อขายเช่นไร ผู้ที่รู้เรื่องดีคนหนึ่งซึ่งเคยพักอยู่ที่ 64 ถนนอินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ชื่อว่า นาง ฉายฉัตร มาลัยวงศ์ (เกิดปี 2506 ขณะนั้นอายุ 31 ปี) นางฉายฉัตร รู้จักกับ นิติวัตติ หรือเพชรวรรต ดีเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเพชรวรรตด้วย
การศึกษา
การศึกษาเบื้องต้นผ่านการบวชเรียนที่ลำพูน และเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จึงมีความคุ้นเคยกับละแวกดังกล่าว ก่อนที่จะสึกออกมาเรียนต่อ ระดับ มศ.5 ที่เชียงใหม่ (ภาคค่ำ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) และเคยอ้างกับคนแวดล้อมว่า เคยเข้าร่วมเป็นทีมปฏิการฝ่ายการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในยุคก่อนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และอ้างว่าเคยรวบรวมข้อมูล 30 บาทรักษาทุกโรคให้กับไทยรักไทย ก่อนที่จะถูกลดบทบาทในยุคที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล
ปี 2546 (ขณะนั้นยังใช้ชื่อ “นิติวัตติ วัฒนพงศศิริกุล” อยู่) ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี (โครงการพิเศษสำหรับผู้บริหารองค์กร) ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา ในหลักสูตร “พัฒนาสังคม” ใช้เวลาปีครึ่ง (3 เทอม) จบ (รหัส 46280319) ก่อนที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโทพัฒนาสังคมใน มน.ต่อ ล่าสุดขณะนี้กำลังเรียนปริญญาเอก ที่ มน.อยู่ด้วย
ธุรกิจ : ร้างไปแล้ว 2 ที่เหลือส่อเจ๊ง
หจก.ชานิวัติ คอนสทรัคชั่น เป็นธุรกิจแรกที่จดทะเบียน เพราะต้องรับเหมางานจากหน่วยราชการ หลังจากแต่งงานและย้ายมาอยู่สถานที่พักปัจจุบัน ทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท
แบ่งเป็น นายนิติวัตติ (เพชรวรรต) 5 ล้านบาท และนางสายรุ้ง (ภรรยา) 1 ล้านบาท หลังจากปี 2538 กิจการแห่งนี้ไม่ได้ดำเนินการต่อ ไม่ได้ส่งงบดุล ปัจจุบันถูกจำหน่ายออกจากสารบบทะเบียนแล้ว
หจก.ชานิวัติกรุ๊ป 1995 เป็นกิจการที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 วัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการโรงแรม นวดสมุนไพร อบสมุนไพร และโต๊ะสนุกเกอร์ ทุนจดทะเบียน 4 แสนบาท แบ่งเป็น นายนิติวัตติ (เพชรวรรต) และนางสายรุ้ง ภรรยา คนละ 2 แสนบาท เชื่อว่า ธุรกิจแห่งนี้คือ ธุรกิจหลักของนายเพชรวรรต กล่าวคือ ประกอบกิจการบริหาร โรงแรม วโรรสแกรนด์พาเลซ (บริหารเท่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ตัวอาคารโรงแรม) ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับที่อยู่ของนายเพชรวรรต คือ 64 ถนน อินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เชียงใหม่ มีกิจการย่อย ๆ ภายในโรงแรม คือ Crocodile Snooker Club ให้บริการสนุกเกอร์ตลอด 24 ชั่วโมง และร้านอาหารครัวดอกแก้ว ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของโรงแรม
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลการดำเนินการของ หจก. ชานิวัติกรุ๊ป 1995 ขาดทุนมาโดยตลอด
งบดุลปี 2550 ขาดทุน 88,596.40 บาท รวมขาดทุนสะสม 972,793.29 บาทและเมื่อตรวจลงไปในรายละเอียด กิจการแห่งนี้มีเงินสด 25,549.72 บาท และ ไม่มีเงินฝากธนาคาร ขณะที่มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,294,970.46 บาท
บริษัท วโรรสแกรนด์พาเลซ จำกัด บริษัทแห่งนี้ถือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นตัวโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ การจดทะเบียนบริษัท ระบุที่ตั้ง 64 ถนน อินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของ นายเพชรวรรต ในปัจจุบัน
ฐานะบริษัทแห่งนี้ในปัจจุบัน ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามคำสั่งที่ cm2/2551 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2551 โดยสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ หรือที่ภาษาของกรมทะเบียนการค้าเรียกว่า “ร้าง” และได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดเชียงใหม่ ตามหนังสือที่ พณ0812/ชม./ว.752 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2551 เรื่อง ขีดชื่อบริษัทจำกัดออกจากทะเบียน ไปโดยสมบูรณ์
เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปพบว่า บริษัทแห่งนี้ มิได้ส่งงบดุลต่อทางการมาตั้งแต่ปี 2546 จึงเป็นเหตุถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน โดยพบว่าหนังสือสอบถามจากกรมสรรพากร มายัง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อถามสถานะของบริษัทแห่งนี้หลายครั้ง
นายนิติวัตติ (เพชรวรรต) วัฒนพงศศิริกุล ก่อตั้งบริษัท วโรรสแกรนด์พาเลซ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2544ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 1 หมื่นหุ้น ๆ ละ 100 บาท มีกรรมการ 7 คน ล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องทั้งสายตนเองและภรรยา
ในปี พ.ศ.2545 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการแทนนาย นิติวัตติ โดยดึงผู้เข้ามาถือหุ้นแทนคือ นาย สมเดช รามสูตร ภูมิลำเนากรุงเทพฯ แต่เป็นไประยะสั้น ๆ นายสมเดช ไม่เข้าถือหุ้นและออกจากเป็นกรรมการในปีเดียวกัน
ต่อมาในปี 2546 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการอีกครั้งโดยมีชื่อ นายเฉลิมพล จันทร์ปาน ภูมิลำเนากรุงเทพฯ แต่ก็มีชื่อในระยะสั้น ๆ อีกเช่นกัน
ตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านความพยายามดึงบุคคลภายนอกมาถือหุ้นร่วมแต่ไม่สำเร็จ นายนิติวัตติ กลับมามีชื่อในผู้ถือหุ้นตั้งแต่บัดนั้นจนถึงการถูกถอดทะเบียนบริษัท โดยในปีดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทมีมติเพิ่มทุนเป็น 15 ล้านบาทถ้วน
นับจากการเพิ่มทุนในครั้งนั้น บริษัท วโรรสแกรนด์พาเลซ จำกัด มิได้ส่งงบดุลและทำให้เชื่อว่าไม่ได้ประกอบกิจการค้าอีกต่อไป จนถูกถอดชื่อกลายเป็นบริษัทร้างในปี 2551
ล่าสุด มีการประกาศขายโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซอย่างเปิดเผย เช่นปรากฏในเว็บไซต์ http://www.cm-baan.com/product.detail_0_th_1744087 ประกาศขายในราคา 75 ล้านบาท
แหล่งข่าวในวงธุรกิจที่เคยคบหาสนิทสนมกับเพชรวรรต กล่าวว่า เพชรวรรตได้อาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่ง เพื่อหมุนเวียนในกิจการโรงแรมของตน แต่ปัจจุบันยังคงเป็นหนี้สินติดพันอยู่
สังคม
เป็นสมาชิกสโสรไลออนส์ศรีวิชัย, ก่อตั้งสมาคมนายจ้างธุรกิจโรงแรมภาคเหนือ ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นองค์กรประกอบการเสนอตัวเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน (ฝ่ายนายจ้าง) ต่อมาสมาคมแห่งนี้ยกเลิกไป, เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน (ฝ่ายนายจ้าง) ศาลแรงงานภาค 5 (2548-2551)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 5 ได้ตั้งกรรมการสอบสวนพฟติกรรมของเพชรวรรตหลังจากถูกร้องเรียนเรื่องประพฤติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งอาจนำมาสู่การถูกปลดจากตำแหน่งในปลายปีนี้
การเมือง
บทบาทของเพชรวรรตในฐานะผู้เคลื่อนไหวสนับสนุนพรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ครั้งแรกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2549
เพชรวรรต เริ่มมีบทบาททางสังคมตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังจะเห็นจากการเข้าไปเป็นสมาชิกสโมสรไลออนส์ การเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปจำนวนหนึ่งมีบทบาทในสังคมหรือเป็นผู้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง
ในยุคที่ พันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหวรอบแรกต้นปี 2549 นักการเมืองพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งเครือข่ายมวลชนต่อต้านฝ่ายตรงกันข้าม โดยกิจกรรมแรกคือการขนมวลชนไปขับไล่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำหนดปราศรัยหาเสียงเมื่อ 30 มีนาคม 2549 ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ม.ช. แกนนำที่เปิดเผยตัวในยุคนั้นเช่น ดี.เจ.นก –มหวรรณ กะวัง อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 7 / มหวรรณ แสดงบทบาทผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยผ่านคลื่นวิทยุ 92.5 Mhz ซึ่งจัดตั้งร่วมกับ เพชรวรรต และได้ใช้ชั้น 4 ของโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ เป็นที่ตั้งสถานี เพชรวรรต มีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสถานี จดทะเบียนชื่อคลื่นเพื่อการเรียนรู้ชุมชนสัมพันธ์เชียงใหม่
ทั้งนี้ คลื่นวิทยุดังกล่าวมีบทบาทอย่างสูงในการโจมตรีรัฐบาลทหาร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ คมช. ระหว่าง ก.ย.2549-ต้นปี 2551 แต่เพชรวรรต ไม่ออกหน้าแสดงบทบาท ปล่อยให้ มหวรรณ กะวัง เป็นผู้ออกหน้าเคลื่อนไหว
เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล เริ่มออกหน้าเป็นแกนนำเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงปี 2551 หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยแสดงตนต่อสาธารณะในฐานะแกนนำครั้งแรก เมื่อมีการจัดมวลชนต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ในนามของชมรมคนรักทักษิณ แต่ก็ยังพ่วงเอามหวรรณ กะวัง ออกหน้าในฐานะประธานชมรมคนรักทักษิณ
ต่อมาเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศรื้อฟื้นบทบาทในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2551 เป็นต้นมา เพชรวรรต ได้แสดงบทบาทความเป็นแกนนำเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้เชื่อมเครือข่ายกับ นปก. อย่างเต็มตัวในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 หลังพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ ในช่วงแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า สภาประชาชนภาคเหนือ
วันที่ 7 มิถุนายน 2551 ที่ลานอเนกประสงค์ ข่วงประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มสภาประชาชนภาคเหนือ นำโดย นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล จัดเวทีขึ้น โดยติดป้ายผ้าที่บริเวณกำแพงเมือง เรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับคืนมา ส่วนเวทีขนาดใหญ่ติดป้ายข้อความว่า “สภาประชาชนภาคเหนือ สำแดงพลังต้านพันธมิตร” ต่อมาได้เพิ่มชื่อองค์กรว่า สมาพันธ์ประชาธิปไตยภาคเหนือและสภาประชาชนภาคเหนือ หลังจากที่ได้จับมือกับเครือข่าย นพ.เหวง โตจิราการ และ นปช. แล้ว
13 กรกฎาคม 2551 พันธมิตรฯ เชียงใหม่จัดเวทีอภิปรายเรื่องปัญหาเขาพระวิหาร ที่โรงยิมเนเซี่ยม 3 สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ในนามของประธานสภาประชาชนภาคเหนือ ร่วมกับกลุ่มคนรักทักษิณหลายๆ กลุ่มทั้งในเชียงใหม่และจากเชียงราย ไปปิดล้อมและขว้างปาสิ่งของใส่การชุมนุมของพันธมิตรฯ
เดือนสิงหาคม 2551 เริ่มประกาศชื่อกลุ่มใหม่ เป็น กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ใช้โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ เป็นศูนย์บัญชาการ ต่อมาได้ตั้งเวทีปราศรัยและเต็นท์กันฝน มีการจัดกิจกรรมปราศรัยทุกสัปดาห์ โดยถ่ายทอดสดผ่านวิทยุชุมชน 92.5 Mhz
ปัจจุบัน กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 มีโครงสร้างขณะเริ่มก่อตั้งดังนี้ นาย เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล เป็นที่ปรึกษา นาย นริศวร ทองแย้ม เป็นประธานกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นาย เมธี เมธาสุข เลขานุการ นาง ศิริอำไพ คำยันต์ เหรัญญิกกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 การเคลื่อนไหวย่อยจะมีสมาชิกประมาณ 60-70 คน ขณะที่การปราศรัยมีผู้มาร่วมเฉลี่ยครั้งละ 100-300 คน
ทุนสนับสนุน
เพชรวรรต เริ่มมีปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนที่สุดนำมาสู่การถูกสั่งถอนทะเบียนบริษัทเมื่อกลางปี 2551 ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง รับงานจากทุกมุ้ง จนกระทั่งกลางปี 2551 เริ่มต่อเชื่อมกับ นปก./นปช.
กรกฎาคม 2551 วันที่ยกพวกไปตีพันธมิตรฯ เชียงใหม่ที่โรงยิมเนเซี่ยม 3 เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ๊ภาคเหนือ ผ่านส.ส.ภาคเหนือตอนล่างที่ใกล้ชิดเจ๊ภาคเหนือ ซึ่งเดินทางมาเชียงใหม่ในวันนั้นและพูดกับคนรู้จักว่า มาจ่ายเงินให้เสื้อแดง
ปลายยุค รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช กลุ่มของเพชรวรรต รับงานมาจากสาย นปก./เนวิน จึงเคลื่อนไหวล่ารายชื่อชาวบ้านสนับสนุนสมัคร สุนทรเวช ต่อ ทั้ง ๆ ที่ สายเหนือและสายเจ๊ ไม่เอาด้วย
เพชรวรรต มีปัญหาทางการเงินในธุรกิจของครอบครัวอย่างยิ่ง เชื่อว่าติดหนี้เงินกู้แบงก์ ใกล้ล้มละลาย อาจสูญเสียโรงแรมที่เป็นธุรกิจหลัก
การเติบโตของเขาในช่วงรุ่งเรือง พยายามบอกกับคนใกล้ชิดว่าเป็นญาติใกล้ชิดกับ ตระกูลพุทธปวน ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ในลำพูน และมีส.ส. /อดีตส.ส. 2 คนคือ ชรินรัตน์ กับ อาภาภรณ์ พุทธปวน เพื่อจะเป็นสะพานให้เข้ามามีเส้นสายทางการเมืองในพื้นที่ / ต่อมาพยายามบอกกับสังคมว่าตนมีตำแหน่งเป็น เลขานุการพ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ / จนที่สุดก็ได้เป็น ผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งจะเป็นช่องทางและเครดิตทั้งทางการเมืองและธุรกิจด้วย
ล่าสุดเขาได้ทุนสนับสนุนจากผู้ไม่เปิดเผย เริ่มขยายเครือข่ายช่องทางสื่อสารวิทยุ มีแผนเชื่อมสัญญาณไปยังลำพูน ลำปาง และ เชียงราย และกำลังติดตั้งระบบวิทยุอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการเตรียมการเปิดแนวรบด้านการสื่อสารในพื้นที่ของพรรคการเมืองใหญ่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง