มหาสารคาม - คณะกรรมการแก้ปัญหาราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ จังหวัดมหาสารคาม ประชุมเตรียมแผนรับมือราคาข้าวนาปีที่กำลังออกสู่ตลาด ขณะที่เกษตรกรวอนรัฐบาลให้เร่งเข้ามาช่วยประกันราคาข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาด เหตุต้นทุนการผลิตข้าวที่ผ่านมาสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 40
วันนี้ (27ต.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดมหาสารคามนายวิริทธิ์พล สันติศราวุฒิ พาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาผลผิตเกษตรตกต่ำ จากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนสหกรณ์ และภาคเอกชน ร่วมกันหารือเตรียมแผนรับมือราคาข้าวเปลือกนาปีที่ผลผลิตกำลังเริ่มออกสู่ตลาด
คาดว่าเมื่อหักพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วมแล้ว จะเหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวไม่ต่ำกว่า 1,800,000 ไร่ แยกเป็นข้าวเจ้า หอมมะลิประมาณ 800,000 ไร่ และข้าวเหนียวประมาณ 1,000,000 ไร่ ซึ่งจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 นี้กว่า 600,000 ตัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในการออกใบรับรองข้าวเปลือกนาปีอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ รวมถึงการประสานกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการให้ทันกับการเปิดจุดรับจำนำข้าว พร้อมจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม นายทองพูน โพนขัน เกษตรกรบ้านหัน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการโครงการประกันราคาข้าวเปลือก เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรหลายรายเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากล่าช้าอาจต้องนำไปจำหน่ายให้กับพ่อค้า ข้าวเหนียว ราคาตันละ 7,200 บาท และข้าวหอมมะลิราคาตันละ 13,000 บาท ราคาดังกล่าวแทบไม่คุ้มทุน เนื่องจากตนมีที่นาประมาณ 20 ไร่ ลงทุนเป็นค่าจ้างไถ ค่าถอนกล้า ปักดำ ค่าปุ๋ยเคมี และค่าเก็บเกี่ยว
การลงทุนที่ผ่านมาเกษตรกรต่างประสบปัญหาความผันผวนของราคาปัจจัยการผลิต แม้ค่าจ้างเกี่ยวที่ใช้รถเกี่ยวนวดจะปรับราคาลงบ้าง แต่ต้นทุนยังเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 40 รวมแล้วต้นทุนต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท อีกทั้งนำข้าวไปจำหน่ายต้องถูกหักค่าความชื้นอีก ยิ่งทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนจึงอยากให้ภาครัฐเข้าให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป