กาฬสินธุ์ - รองผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์สั่งท้องถิ่นจังหวัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี อบจ.กาฬสินธุ์ฮั้วประมูลงานรับเหมา และหักหัวคิวงบจัดกีฬาพร้อมร่อนหนังสือให้ อบจ.ชี้แจงเกิดการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านท้องถิ่นจังหวัดรับลูกรายงานภายใน 5 วัน ขณะที่แหล่งข่าวเผยปัญหาการร้องเรียนการทุจริตของอปท.ในจังหวัดกาฬสินธุ์ติดอันดับ 4 ของประเทศ
ความคืบหน้ากรณีความอื้อฉาวในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาฬสินธุ์ หลังจากที่กลุ่มผู้รับเหมาใน จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ได้เข้าชื่อส่งหนังสือร้องเรียนต่อนางชะม้อย วรามิตร นายก.อบจ.กาฬสินธุ์เพื่อให้ยกเลิกการประมูลงานรับเหมากว่า 20 โครงการ เนื่องจากเชื่อว่ามีการปกปิดฮั้วประมูลงานกัน เพราะไม่มีการติดประกาศ หรือมีการติดประกาศที่ล่าช้าจนทำให้เชื่อว่ามีใบสั่งจากบิ๊ก อบจ.กาฬสินธุ์ เอื้อประโยชน์งานรับเหมาให้กับนักการเมืองที่มีอาชีพรับเหมากับเครือข่ายญาติพี่น้องของผู้บริหารใน.อบจ.กาฬสินธุ์
อีกทั้งยังมีคณะกรรมการในสมาคมกีฬาออกมาเปิดเผยข้อมูลการเรียกรับเงินทอนจากงบประมาณสนับสนุนงานกีฬาถึง 60% จนทำให้ กลุ่ม อปท.เพื่อประชาชนอีสาน ประกาศที่ร่วมกับทางจังหวัดและส่วนกลางสางทุจริตครั้งนี้
ล่าสุด วันนี้ (29 ก.ย.) นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะที่ควบคุมดูแลงานด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เรียกนายโสภณ ชาเรืองฤทธิ์ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์เข้าพบพร้อมกับสั่งการให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับให้ทำหนังสือส่งไปสอบถามยัง อบจ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้อบจ.กาฬสินธุ์ทำหนังสือชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะที่ควบคุมดูแลงานด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า เบื้องต้นเพิ่งทราบข่าวเรื่องการร้องเรียนให้ยกโครงการประมูลงานและการหักหัวคิวงบประมาณจัดการแข่งขันกีฬาของ อบจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่รับรับรายงานขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวสำคัญต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด ประกอบกับนโยบายการป้องกันและปราบปราบการทุจริต เป็นนโยบายหลักของจังหวัด โดยเฉพาะการป้องกันการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายพงษ์ศักดิ์ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดำเนินการ
ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อเข้าไปดูแล ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งให้ทำหนังสือสอบถามส่งไปยัง อบจ.กาฬสินธุ์ และรายงานเข้ามายังจังหวัดโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก แม้ทางจังหวัดจะยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนและได้รับรายงานเข้ามาก็ตาม
แต่ในทางการบริหารทางจังหวัดจะต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบว่า มีการฮั้วประมูลงาน หรือทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีการทำตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีมูลความผิดทางจังหวัดก็จะดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป แต่ยืนยันว่าทางจังหวัดจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ด้าน นายโสภณ ชาเรืองฤทธิ์ ท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องการร้องเรียนที่เกิดขึ้น ทาง อบจ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้ส่งเรื่องและรายงานมายังท้องถิ่นจังหวัดแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ร้องเรียนไม่ได้เข้ามาร้องยังท้องถิ่นจังหวัด จึงไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้ นอกจากจะมีคำสั่งจากทางจังหวัดลงมาเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ส่วนกรณีที่ผู้ร้องระบุว่า อบจ.กาฬสินธุ์ไม่ได้ติดประกาศ หรือประชาสัมพันธ์การเปิดสอบราคาประมูลงานนั้น ตามกฎระเบียบแล้วการก่อนที่จะมีการเปิดสอบโครงการจะต้องมีการติดประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ แต่ท้องถิ่นจังหวัดก็ไม่ทราบว่าทาง อบจ.ได้ติดประกาศตามขั้นตอนหรือไม่
แหล่งข่าวภายในสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการทุจริตขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง อบต.และ อบจ.จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2551 มีผู้เข้ามาร้องเรียนเรื่องการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับสำนักงานท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งไม่รวมหน่วยงานอื่นๆ มีทั้งหมด 147 เรื่อง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีการร้องเรียนมาก ติดอันดับ 4 ของประเทศไทย