เชียงราย - หอการค้าภาคเหนือ เสนอผ่านหอฯไทย เร่งผลักดันรัฐบาลพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน-ทางรถไฟรองรับยุทธศาสตร์คุนหมิง-กรุงเทพฯ ของจีน ที่กำลังเร่งมือเต็มที่ หวั่นแผนพัฒนาไทยล่าช้าไม่ทันกิน จนกลายเป็นแค่ทางผ่านสินค้าจีนเท่านั้น
ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย ,นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย-ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ และหอการค้าในภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำพูน-ลำปาง-พะเยา-แพร่-น่าน-อุตรดิตถ์-ตาก ฯลฯ และผู้แทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมราว 80 คน
ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงกรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กำหนดยุทธศาสตร์คุนหมิง-กรุงเทพฯ ขึ้น มีการเร่งรัด ส่งเสริมการเดินทางทางบกจากนครคุนหมิง มาถึง กทม.ประเทศไทย โดยขณะนี้เส้นทางที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือการที่จีน ส่งเสริมให้มีการสร้างถนนสาย R3a จากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว มาที่ เมืองห้วยทราย ตรงข้าม อ.เชียงของ เพื่อที่จะข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มาที่ จ.เชียงราย เพื่อต่อไปยังภาคกลางของไทย
หอการค้าในภาคเหนือเชื่อว่า ประเทศจีนจะมีการขนส่งสินค้านานาชนิดมาตามเส้นทางนี้ จึงเป็นห่วงเรื่องถนนในประเทศไทย ตั้งแต่ อ.เชียงของ - จ.เชียงราย และถนนเลี่ยงเมืองเชียงราย ที่มีโครงการแล้ว แต่เกรงจะก่อสร้างเสร็จไม่ทันการก้าวเข้ามาของจีน อยากให้มีการเร่งรัดการก่อสร้าง เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีรถบรรทุกแล่นผ่าน
ส่วนหอการค้ากว่า 5 จังหวัด ในเส้นทางคมนาคมสายเก่าของภาคเหนือ คือ สายพะเยา-แพร่-อุตรดิตถ์-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ อยากให้มีการพัฒนาเส้นทางถนนสายนี้ด้วยจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อที่จะให้เท่าเทียมกับเส้นทางถนนสายใหม่ จากจังหวัดเชียงราย -จ.พะเยา-ลำปาง สู่ จ.ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-กทม. เพื่อให้จังหวัดในภาคเหนือจะได้ประโยชน์ทั่วถึงกัน
ส่วนเส้นทางรถไฟจากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว มาที่ จ.เชียงราย ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ หากจีน ผลักดันให้เกิดและสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนผ่าน สปป.ลาว มาที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว สู่ อ.เชียงของ และ อ.เมืองเชียงราย โดยอาจใช้ระบบราง 1.2 เมตร แบบจีน จากนั้นฝ่ายไทยอาจจะสร้างทางรถไฟจาก อ.เมืองเชียงราย-พะเยา-อ.เด่นชัย จ.แพร่ เชื่อมกับทางรถไฟไทยที่มีอยู่ ด้วยรางรถไฟขนาด 1.1 เมตรต่อไป
ตัวแทนหอการค้าหลายจังหวัดเกรงถึงเรื่องการที่จีน อาจจะลำเลียงสินค้าผ่านประเทศไทยไปออกทางท่าเรือเดินสมุทร โดยไทยเป็นแค่ทางผ่าน และอาจไม่ได้ประโยชน์เรื่องการบริการขนส่งหรือ ลอจิสติกส์เท่าที่ควร หากไม่มีการเตรียมการรองรับที่ดี ดังนั้น หอการค้าไทยและหอการภาคเหนือ จึงมีแนวทางที่จะพยายามสนับสนุนให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก ทั้งถนน ทางรถไฟโดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว สู่ประเทศเวียดนาม และเส้นทางคมนาคมจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังสหภาพพม่า ซึ่งก็เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีอนาคต ตลอดจนเส้นทางถนน สาย R3b จาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผ่าน จ.ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-จีน ซึ่งอาจจะมีการพัฒนาขึ้นได้ต่อไปในอนาคตต่อจากสาย R3a โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาทั้งหมดนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป