xs
xsm
sm
md
lg

“อยุธยา อลิอันซ์” ยันวิกฤต “แฮมเบอเกอร์” ไม่กระทบลุยลงทุนเพิ่ม-ยอดขายพุ่งสวนทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.” ทุ่มงบเปิดศูนย์บริการขายประกันผ่านโทรศัพท์ แห่งที่ 4 เจาะกลุ่มลูกค้าเชียงใหม่-ภาคเหนือ ตั้งเป้าสิ้นปีฟันกำไรเพิ่มอีก 1 พันล้านบาท มั่นใจรายได้รวมทั้งหมดทะลุเป้า 12,000 ล้าน-ยอดผู้ถือกรมธรรม์ 2 แสนคน แม้เศรษฐกิจซบ-AIG ประสบปัญหาการเงินกระทบความเชื่อมั่นลูกค้า พร้อมย้ำหลังเกิดวิกฤต “แฮมเบอเกอร์ไครซีส” มียอดขายพุ่งสวนทางธุรกิจประกัน 3 สัปดาห์แรกเดือนนี้รายได้โต 34%


นายวิลฟ์ แบล็คเบิร์น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต เปิดเผยว่า เอเอซีพีมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายประกันชีวิตให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเปิดศูนย์บริการขายประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ (telesales call center)แห่งที่ 4 ขึ้นที่เชียงใหม่ บริเวณอาคารเชียงใหม่เซอร์วิสเซ็นเตอร์

ศูนย์บริการแห่งนี้ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 60 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 200 คน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น มุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และมีให้เลือกหลายแบบ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มีศักยภาพในการเติบโตของตลาดประกันชีวิต และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีประชากรที่มีกำลังซื้อสูง ในขณะที่อัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ในอัตราที่ต่ำ ดังนั้น เชื่อว่าศูนย์บริการแห่งนี้จะเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการ

“เราใช้งบประมาณ 60 ล้านเปิดศูนย์ฯแห่งที่ 4 ต่อจากศูนย์บริการที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และศรีราชา เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น โดยมีพนักงานรองรับการบริการทั้ง 4 แห่งรวม 700 กว่าคน ทางบริษัทมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้เบี้ยปีแรกจากยอดขายผ่านช่องทางเทเลเซลส์ประมาณ 1 พันล้านบาท”

นายวิลฟ์ กล่าวต่ออีกว่า ทิศทางการดำเนินงานของเทเลเซลจะไม่ทับซ้อนกับการจำหน่ายโดยผ่านตัวแทน เนื่องจากลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกัน เทเลเซลจะใช้ฐานข้อมูลลูกค้าจากบริษัทเครดิตที่เป็นพันธมิตรกับเอเอซีพี โดยเฉพาะลูกค้าจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ถือบัตรเครดิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง

นายวิลฟ์ กล่าวต่ออีกว่า การจำหน่ายประกันชีวิตผ่านช่องทางโทรศัพท์ เมื่อเทียบกับการจำหน่ายผ่านตัวแทนถือว่าเติบโตอย่างช้าๆ โดยคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่การจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนมีสัดส่วนสูงถึง 50% นอกจากนั้น มาจากช่องทางผ่านแบงก์เอสชัวรันส์ และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งช่องทางอื่นๆอีกด้วย

“การจำหน่ายในช่องทางนี้อาจจะไม่มากเหมือนการจำหน่ายผ่านตัวแทน แต่เชื่อว่าในอีก 2-3 ปี จะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการความคุ้มครองที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ของเอเอซีพีที่ให้ความคุ้มครองรอบด้านและมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก” นายวิลฟ์ กล่าว

ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายประกันชีวิตผ่านเทเลเซลตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ผ่านมา ประมาณ 9% โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 584 ล้านบาท ภายหลังการเปิดศูนย์บริการเพิ่มที่นครราชสีมา และ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากเดิมที่มีศูนย์บริการที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว

นอกจากนี้ เมื่อเทียบยอดจำหน่ายกรมธรรม์ต่อปี ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมายอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2548 จำหน่ายได้ 361 ล้านบาท ปี 2549 ยอดจำหน่าย 414 ล้านบาท ปี 2550 ยอดจำหน่าย 900 ล้านบาท ขณะที่เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 ยอดทั้งสิ้น 636 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อสิ้นปีจะมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท

นายวิลฟ์ กล่าวต่ออีกว่า ในขณะนี้มีหลายบริษัทเริ่มประสบปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อประกันชีวิตนั้น ในส่วนของเอเอซีพี ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการวางแผนการดำเนินการอย่างรุดกุม อีกทั้งมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง โดยกลุ่มอลิอันซ์ ที่ทำงานด้านนี้มาหลายปี กลุ่มซีพี ที่มีเครือข่ายแข็งแกร่ง รวมทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ด้วยแล้ว ทำให้เอเอซีพีจะไม่ประสบปัญหาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของเอเอซีพีเน้นที่การคุ้มครองมากกว่าการออมทรัพย์ โดยจะเน้นภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ที่มั่นคง รวมทั้งการการันตีคืนเงิน การเพิ่มอัตราการจ่ายคืนสูงในกรณีผลประกอบการของบริษัทฯ ดี ซึ่งแตกต่างจากบริษัทอื่นที่เน้นการให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงในขณะที่ต้องออมทรัพย์ในระยะยาว

3 สัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 51 ยอดจำหน่ายกรมธรรม์ของเอเอซีพี เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในทุ่งช่องทางจัดจำหน่าย เนื่องจากความเชื่อมั่นของลูกค้า โดยรายได้สุทธิตั้งแต่เดือนมีนาคม สิ้นสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เติบโต 34% คิดเป็น 1.607 พันล้านบาท สูงกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม ที่เพิ่มขึ้น 12% ในขณะที่เป้าหมายของรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 4 พันล้านบาท

ส่วนยอดผู้ถือกรมธรรม์เมื่อสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2551 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา จำนวน 23% โดยเดือนสิงหาคม 2550 มีผู้ถือกรมธรรม์ทั้งสิ้น 81,528 ราย ขณะที่เดือนสิงหาคม 2551 มีผู้ถือกรมธรรม์ทั้งสิ้น 100,674 ราย ส่วนยอดโดยรวมปี 2550 มีผู้ถือกรมธรรม์ทั้งสิ้น 136,894 ราย ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2551 คาดว่าจะมีผู้ถือกรมธรรม์ทั้งสิ้น 200,000 ราย

“ถึงแม้ว่ารายได้และผู้ถือกรมธรรม์ยังไม่มากนัก แต่ในไตรมาสสุดท้าย จะเพิ่มขึ้นย่างแน่นอน เนื่องจากในแต่ละปีรายได้ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งปีนี้ก็เช่นกันจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปีที่ผ่านมาทำได้ 2 พันกว่าล้านบาท เป็น 4 พันล้านบาท ขณะที่ยอดรายได้รวมจะถึงเป้าที่วางไว้ 12,000 ล้านบาท”
กำลังโหลดความคิดเห็น