xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ มทส.โต้ “นิธิ” เก่งประวัติศาสตร์ แต่ไร้เดียงสาเรื่องการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-จากกรณีที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ ได้เขียนบทความเรื่อง “ปฏิรูปสังคม” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2551 โดยมีเนื้อหาเหน็บแนมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จึงได้เขียนบทความเรื่อง “การปฏิรูปสังคมในบรรยากาศปกติที่ไร้เดียงสา ของ อ.นิธิ” เพื่อเป็นการตอบโต้ ดังนี้

การปฏิรูปสังคมในบรรยากาศปกติที่ไร้เดียงสา ของ “อ.นิธิ”

วิวาทะฉันกัลยาณมิตร
โดย รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส)


ผมอ่านบทความ “ปฏิรูปสังคม” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2551 แล้วอดรนทนไม่ไหวที่จะต้องขอโต้ตอบท่านสักหน่อย แต่บทความที่เขียนโดยหิ่งห้อยน้อยแสงนี้คงไม่มีสื่อฉบับไหนเขาลงตีพิมพ์ให้ดอก ผมก็ใคร่ขอตีพิมพ์นอกระบบของผมไปแบบนี้ก็แล้วกัน

อดีตผมเคยนับถือท่านนิธิมากในฐานะนักประวัติศาสตร์ แต่พอท่านมาเขียนงานทางการเมืองแล้ว ผมรู้สึกว่าท่านนิธิออกจะ “ไร้เดียงสา” ซึ่งท่านเองในบทความนี้ก็ได้เสียดสี “พันธมิตร” ของผมว่าไร้เดียงสา อยู่หลายแห่งหลายที่

ขอออกตัวด้วยว่า ตัวผมเองเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์แต่ประการใด และขอยอมรับว่าผมเองเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ของพันธมิตรฯ เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตร 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับความคิดของพันธมิตรฯ 100% บ่อยครั้งผมวิจารณ์พันธมิตรฯ ทั้งโดยส่วนตัวและในที่สาธารณะ บางครั้งแม้ไม่เห็นด้วยแต่ผมก็ต้องนิ่งเงียบโดยปรัชญาส่วนตัวด้านการเมืองผมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ซ้าย ไม่ขวา และไม่กลาง

ผมจะตัดบทความของ ศ.ดร.นิธิ มาแสดงด้วย นำหน้าด้วยเครื่องหมาย > และปิดการแสดงด้วย ..... ระหว่างนั้นเป็นข้อเขียนของผม ผมได้พยายามไม่ตัดข้อความมาอ้างแบบ “นอกบริบท”

> ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดว่าให้คนดีปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่เพราะคำพูดนี้ผิด แต่เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร พูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น แต่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้แน่ว่าใครคือคนดี แม้แต่ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าดี ก็อาจผันแปรเป็นไม่ดีไปได้เมื่อเงื่อนไขชีวิตเปลี่ยนไป เช่นมีอำนาจและลูกน้องที่จะต้องเลี้ยงดู .....

อ.นิธิ กำลัง “ตะแบง” นะครับ คนดีเข้าไปปกครองบ้านเมืองย่อมดีกว่าคนชั่วอยู่แล้ว แม้เขาจะกลับมาชั่วในตอนหลังก็ตาม ก็ยังถือว่าดีครึ่งชั่วครึ่ง ครับ ถ้าคนชั่วปกครองแต่แรกมันชั่วตลอดกาลนะครับ

อีกประการ แล้วทำไมต้องไปคิดด้วยล่ะครับว่าเขาจะกลายเป็นคนชั่วในภายหลัง ให้โอกาสคนเป็นคนดีตลอดชีวิตบ้างไม่ได้เลยหรือ คนอย่าง พลตรี จำลอง อ.หมอประเวศ อ.สุลักษณ์ หรือแม้แต่ อ.จอน อ.นิธิ เองก็ตาม ก็เป็นตัวอย่างที่เดินได้ให้เห็นอยู่ว่าคงไม่เปลี่ยนสีแน่นอนไม่ใช่หรือ

>หรือถึงจะเป็นคนดีแต่ไม่มีฝีมือในการบริหาร ก็ไม่ทำให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม.....

อ.นิธิ ไม่น่าพูดแบบนี้เลย เพราะ “เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร พูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น” แต่จริงๆ แล้ว ผิดครับ กล่าวคือ โดยหลักสถิติแล้ว คนดีจะมีฝีมือการบริหารสูงกว่าคนชั่วนะครับ ไม่เช่นนั้นป่านนี้โจรมันครองโลกไปหมดแล้ว ธรรมะย่อมชนะอธรรม แม้ไม่เสมอไปทุกครั้งก็ถือว่าชนะโดยหลักสถิติครับ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ธรรมะจะชนะได้ แต่คนดีใช้หลักธรรมะบริหารสังคมจนชนะการบริหารจากฝ่ายคนชั่วต่างหาก

> ที่ต้องใช้ปัญญาอย่างแท้จริง คือ กระบวนการอะไรจึงทำให้คนดีและมีฝีมือ ได้ปกครองบ้านเมือง และดำรงความดีกับฝีมือของตนไว้ได้ตลอดไป คำตอบของนักปราชญ์ฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ ต้องเปิดให้แก่การตรวจสอบของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง .....

ตรงนี้ อ.นิธิ ทึกทักเอาเอง และไปคิดว่าคนอื่นเขาโง่กว่าตน พวกพันธมิตรฯ เขาก็ไม่ได้บอกสักหน่อยว่าเขาจะยกเลิกระบบตรวจสอบ เขาบอกเพียงว่าต้องทำให้ได้คนดีคนเก่งเข้ามา (ซึ่งละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าระบบตรวจสอบก็ยังคงมีอยู่ดังเดิมหรืออาจเพิ่มเติมให้มากกว่าเดิมก็ได้ด้วยซ้ำไป)

อีกทั้งระบบตรวจสอบนี้เขาก็มีกันมานานแล้ว วิวัฒนาการกันมาหลายร้อยปี ก็แค่ไปเลียนแบบฝรั่งประเทศไหนมาก็ได้แล้ว ทำไมถึงต้อง “ใช้ปัญญาอย่างแท้จริง” ด้วย การปรับระบบเพื่อให้ได้คนเก่งคนดีเข้ามาสิครับที่ต้องใช้ “ปัญญาอย่างแท้จริง” เพราะพวกฝรั่งยังไม่ได้คิดไว้ เพราะฝรั่งเขาไม่เชื่อในความดีงามของมนุษย์ ดังที่หลักศาสนาของเขาก็เชื่อในหลักการ บาปเดิมแท้ (original sin) ในขณะที่หลักศาสนาพุทธเชื่อในหลักการ “จิตประภัสสร” หรือ “จิตเดิมแท้” (original saint..ผมปั้นศัพท์เอง)


>ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การใช้หลักการที่ไร้เดียงสาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ "ปฏิรูป" ยังอาจนำไปสู่การแสวงหาคนดีที่หลุดไปจากการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดของสาธารณชนด้วย .....

การได้คนดีที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างเคร่งครัด กับการได้คนชั่วที่ตรวจสอบได้อย่างเคร่งครัด ท่านนิธิคงจะเลือกประการหลัง ส่วนผมขอเลือกประการแรก ทั้งนี้หาใช่ว่าผมนิยมการไม่ตรวจสอบ ผมเพียงแต่จะบอกว่า ตรรก ของท่านนิธิตรงนี้บกพร่อง เพราะท่านไปให้ความสำคัญกับการตรวจสอบมากไป การตรวจสอบไม่ได้ทำให้คนเป็นคนดี อย่างเก่งที่สุดก็ทำให้คนไม่กล้าทำชั่ว การไม่กล้าทำชั่ว กับการทำความดีโดยบริสุทธิ์ใจ มันต่างกันมากครับ อย่าดูถูกความดีงามของมนุษย์จนเกินไปครับ

การทำที่ยากที่สุดในความเห็นผม คือ การกล้าคิด ซึ่งท่านนิธิท่านก็เป็นคนที่ “ทำ” มากที่สุดคนหนึ่ง แต่ไฉนจึงไม่กล้าในเรื่องนี้ หรือว่ามีวาระซ่อนเร้น


> น่าประหลาดที่เขาเรียกการรอนอำนาจประชาชนเช่นนี้ว่า “ประชาภิวัฒน์” .....

ท่านนิธิเป็นนักปราชญ์ ก่อนจะพูดอะไรควรตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด ทางฝ่ายพันธมิตรฯ เขายังไม่ได้เสนออะไรที่เป็นรูปธรรมแน่นอนเลยสักอย่าง อย่างมากก็เพียง “โยนหินถามทาง” แต่ท่านนิธิเอามาทึกทักทำเป็นขึงขังจริงจังเพื่อเสียดสีเขาเล่นเท่านั้นเองหรือ

> อันที่จริง ในการ “ปฏิรูป” ใครจะเสนออะไรที่ไร้เดียงสาหรือเห็นแก่ตัวเท่าไรก็ได้ทั้งนั้น หากมีบรรยากาศที่เปิดกว้าง ปราศจากการไฮแจ็ก ไม่ว่าจะเป็นไฮแจ็กทำเนียบ หรือไฮแจ็กรัฐสภา.....

ท่านนิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยยกย่อง ท่านช่วยยกตัวอย่างสักตัวอย่างได้ไหมว่ามีสังคมใดในโลกนี้บ้างแต่อดีตกาลนานโพ้นที่ “ปฏิรูป” สังคมได้สำเร็จใน “บรรยากาศปกติ” แม้แต่สังคมอโศกมหาราช ก็เปลี่ยนแปลงในบรรยากาศอปกติ ท่านต้องยกย่องพันธมิตรฯ นะครับ ที่เขาเก่งกาจสามารถสร้างบรรยากาศอปกตินี้ขึ้นมาได้ด้วยสภาวะอันสงบสันติที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้ ซึ่งแม้ตัวท่านนิธิเองก็ฉกฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วยการแสดงภูมิปัญญาอันปราดเปรื่องของท่านให้ปรากฏขจรขจายได้อย่างกว้างขวางมากกว่าในบรรยากาศปกติมากมายนัก อย่างนี้แล้วท่านอาจเข้าข่ายว่าเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ” ก็เป็นได้

> ดังเช่นข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของฝ่ายพันธมิตรฯ หากเป็นข้อเสนอในบรรยากาศปกติธรรมดา สังคมไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ ก็จะถูกตีตกไปในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีใครใส่ใจจริงจังอีกเลย.....

บรรยากาศ “อปกติ” นี้ใช่ว่าจะสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ หลายร้อยปีมีเพียงหน และเขาก็เปิดกว้างแล้วว่ายินดีรับฟังความเห็นของทุกท่าน ให้มาร่วมกันคิดร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ ท่านนิธิก็ลองเสนอไปบ้างสิ จอมปราชญ์อย่างท่านเสนอเข้าไปพวกเขาคงรับฟังเป็นพิเศษกว่าที่ผมเองเสนอไปแล้วสามสี่รูปแบบ (ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ได้รับการรับฟังเลย ซึ่งผมก็ไม่เสียใจหรอก มันเป็นธรรมดาของระบบประชาธิปไตยที่ไม่เอาใจของเราเป็นใหญ่ ถือว่าเราได้เสนอไปแล้วก็ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว)หรือว่าท่านนิธิไม่กล้าเสนอ กลัวว่าจะเสียชื่อนักปราชญ์ที่ข้อเสนอถูก “ตีตก” กลางเวทีในบรรยากาศอปกติ ละกระมัง??

นักวิชาการมักเป็นเช่นนี้ มักไม่กล้าเสนออะไรที่เป็นรูปธรรม ชอบแต่ตีขลุมวางมาดทางวิชาการไปมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรนักต่อสังคม แต่เกิดประโยชน์มหาศาลต่อนักวิชาการเอง กล่าวคือ ชื่อเสียง การได้รับการเคารพ และอะแฮ่ม...ค่าตอบแทนการบรรยายบนเวทีสัมมนาวิชาการ

>ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการจำกัดการ “ปฏิรูป” ให้เหลือเพียงการ “ปฏิรูปการเมือง” เพราะไม่มีการ “ปฏิรูปการเมือง” ใดๆ จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากไม่คิดว่า “การเมือง” เป็นเพียงมิติเดียวของสังคม ยังมีส่วนของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กำกับความเป็นไปของการเมืองอยู่เสมอ และผมขอเสนอให้เรียกว่า “ปฏิรูปสังคม”เราควรคิดถึงการปฏิรูปที่ดิน, การปฏิรูประบบภาษี, การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูประบอบปกครอง ฯลฯ ไปพร้อมกัน เพราะความล้มเหลวของการเมืองไทยหลายประการ มาจากเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคม ไม่ใช่เรื่องการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ.....

อ.นิธิ ไม่น่าพูดแบบนี้เลยครับ เพราะ “เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร พูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น” แต่จริงๆ แล้วไม่ถูกทั้งหมดหรอกครับ ดังที่ผมจะอธิบาย กล่าวคือ การปฏิรูปนั้นมันทำได้ 3 ทาง คือ 1.จากยอดสู่พื้น 2.จากพื้นสู่ยอด 3.ทำทั้งพื้นทั้งยอดคู่ขนานกันไป สิ่งที่ท่านเสนอคือประการที่สาม ซึ่งมันสามารถทำได้ใน “บรรยากาศปกติ” ถ้าโชคดีทำได้สำเร็จอีก 500 ปีข้างหน้าสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมอารยะที่ลูกหลานเราคงจะได้ศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ไปอีกนาน

แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยขณะนี้ไม่มีความแข็งแรงเชิงโครงสร้างพอที่จะรองรับการบีบคั้นจากระบบทุนสามานย์ได้นานขนาดนั้น ผมทำนายว่า ถ้าอัตราการเสื่อมของสังคมยังเป็นไปในระดับปัจจุบัน ภายใน 50 ปีจากนี้สังคมไทยล่มสลายแน่นอน ท่านนิธิเรียนประวัติศาสตร์ ท่านทำนายอนาคตไม่ออกหรือ


แต่สิ่งที่พันธมิตรฯ กำลังทำ คือ แนวทางที่ 1 (จากยอดสู่พื้น) คือ ปฏิรูปการเมือง (ยอด) เสียก่อน แล้วใช้การเมืองนำไปสู่การปฏิรูปพื้น (เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม) วิธีนี้เป็นวิธีแบบเฉียบพลัน เปรียบเสมือนการรักษาไข้ด้วยการผ่าตัด เนื่องจากคนไข้อยู่ในอาการขั้นสุดท้ายแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดในขณะเวลานี้ หากรอช้าไปอีก 20 ปี รับรองว่าอาการกู่ไม่กลับ เพราะโรคร้ายแห่งระบอบทักษิณลุกลามเกินกำลังแก้ไข (ผมใช้คำว่า “ระบอบทักษิณ” ในลักษณะทั่วไป ไม่ได้หมายถึงชื่อของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ) และการลื่นไถลไปสู่ความล่มสลายก็มิอาจหลีกหนีได้อีกต่อไป แต่หากคิดว่ามันเป็นกฏวิวัฒนาการสังคมตามธรรมชาติที่สังคมอ่อนแอย่อมล่มสลาย ก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว

>ฝ่ายพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายหนึ่ง ซ้ำเป็นฝ่ายสำคัญด้วย ที่จะนำเอาบรรยากาศปกติกลับคืนมาแก่สังคม การสนับสนุนของประชาชนส่วนที่ได้รับอยู่เวลานี้ ต้องแสวงหาและรักษาไว้ด้วยมาตรการอื่น ไม่ใช่การประท้วงด้วยท่าที “สงครามครั้งสุดท้าย” เพียงอย่างเดียว เพราะท่าทีนี้ไม่ใช่การเปิดกว้างแก่การ “ปฏิรูป” แต่เป็นการประกาศคำสั่งเด็ดขาดเท่านั้น.....

แมวมันจะจับหนูจอมตะกละด้วยวิธีใดอะไรสำคัญนักหรือ...ขอแต่เพียงให้มันจับหนูได้ก็พอแล้วมิใช่หรือ หรือว่าวิธีการจับหนูมีเพียงวิธีเดียวคือหัวหน้าแมวร่วมกับแมวลูกน้องอภิปรายกันอย่าง “เปิดกว้าง” ในบรรยากาศปกติบนเวทีแมววิชาการ แมวเอ็นจีโอ ว่าจะหาวิธีตกลงกับหนูอันธพาลอย่างไรดี เพื่อให้หนูมันยอมประพฤติตนเป็นหนูดีที่ไม่แอบมาขโมยกินอาหารของเจ้าของบ้านยามค่ำคืนอีกต่อไป ซึ่งทำให้แมวต้องมาเหนื่อยยากไล่จับหนูกันจ้าละหวั่นแบบไร้ผลโดยสิ้นเชิงมาเป็นเวลานาน เพราะทุกวันนี้แมวมันอ้วนเสียจนวิ่งไล่จับหนูไม่ไหวแล้ว ไม่ว่าจะมีสีอะไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะได้รับการขุนเลี้ยงด้วยอาหารถุงชั้นดีที่สั่งตรงมาจากเมืองนอก

อย่าลืมด้วยว่า หนูมันแพร่พันธุ์เร็วมาก หากช้าไป สักวันมันหมดอาหารที่จะขโมยกินได้ มันอาจวิวัฒนาการสูงขึ้นมากินแมวเป็นอาหารเสียเอง ไม่ว่าจะสีอะไรก็ตาม

ใฝ่รู้ ใฝ่คิด ใฝ่ดี คือวิถีของปัญญาชน
รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น