ขอนแก่น-สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล จัดประกวดทำขนมและอาหารว่างที่เปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ ระดับภูมิภาคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น หวังรณรงค์คนไทยตื่นตัว ในการหาของว่างรับประทาน และคิดค้นเมนูของว่างดีๆ โดยเน้นคุณค่าทางโภชนาการ
วันนี้ (23 ก.ย.) นักเรียนสังกัดอาชีวศึกษา และนักศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากการส่งรายการขนมและอาหารว่างเข้าประกวดในรอบแรก มาสู่รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 10 ทีม ทีมละ 2 คน โดยมาจากจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม และอุบลราชธานี ร่วมการประกวด “ขนม-อาหารว่าง เพื่อสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่อาคารเรียน คณะคหกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จัดโดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อาหารและขนมว่าง นับเป็นเมนูที่คนไทยนิยมบริโภค นอกจากการรับประทานอาหารตามปกติ 3 มื้อ แต่อาจยังไม่มีข้อมูลในเรื่องของขนม-อาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากนัก
ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาภาวะโภชนาการของคนไทย จึงจัดให้มีการประกวดขนม-อาหารว่างเพื่อสุขภาพ ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระดับภูมิภาคขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2551 นี้
โดยเริ่มจากที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และมาที่ขอนแก่น ก่อนจะไปปิดท้ายที่กรุงเทพมหานคร สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 ทีม เมนูที่เข้าร่วมประกวด ประกอบด้วย ข้าวพองหนอนไหม ปลาบู่ทอง หมึกหรรษา วุ้นลำใยลอยน้ำกระชายดำ และถั่วแปบเสริมคุณค่า เป็นต้น
ผศ.ดร.อุไรพร กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินการประกวด จะดูเรื่องคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องปริมาณพลังงาน และสารอาหาร ต้องเหมาะสมในการบริโภคของคนไทยระหว่างมื้อ
เกณฑ์การตัดสินตามด้วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตลอดจนใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อรักษาหรือสื่อถึงเอกลักษณ์ของไทยและในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้เป็นอาหารว่างที่ไม่ใช้ต้นทุนสูง ไม่มีความซับซ้อนในการทำมากนัก สอดคล้องและเป็นไปได้ที่ประชาชนทั่วไปจะนำไปทำรับประทานเองได้ง่ายๆ ในชีวิตจริง พร้อมรณรงค์สร้างกระแสวัฒนธรรมการบริโภคที่ดี เพื่อส่งเสริมการรักษาสุขภาพในเด็กไทยต่อไป
ทั้งนี้ การจัดประกวดขนม-อาหารว่าง นั้น ผศ.ดร.อุไรพร กล่าวอีกว่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่สถาบันวิจัยโภชนาการ จัดขึ้นเพื่อเสริมฐานข้อมูลด้านโภชนาการสำหรับประชาชน โดยจะมีการขยายผลด้วยการจัดพิมพ์รายการขนม-อาหารว่างที่เข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลต่อประชาชนต่อไป