xs
xsm
sm
md
lg

เผยเด็กก่อนวัยเรียนภาคอีสานขาดสารอาหารสูง สสส.จัดเวิร์กชอปภาคีสุขภาพ 10 จว.รับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพชีวิตความเป็นอยู่หลายพื้นที่ในภาคอีสานยังไม่เอื้ออำนวยให้ลูกหลานได้รับโภชนาการที่ดีได้
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เผยเฉพาะปี 50 พบเด็กก่อนวัยเรียนในภาคอีสานมีอัตราโรคขาดสารอาหารสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่เกษตรกรอีสานยังเสี่ยงมะเร็งสูง ด้าน สสส. ดึง 3 หน่วยงานสาธารณสุข จัดเวที “ภาคีสุขภาพ” 10 จังหวัดอีสานตอนบน ส่งเสริมบูรณาการโครงการเพื่อสุขภาพ

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกันจัดประชุมร่วม “ภาคีสุขภาพ” ใน 10 จังหวัดภาคอีสานตอนบน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ รองประธาน สสส.ประธานเปิดงาน กล่าวว่า จากสภาวะทางสุขภาพของประชาชนใน 10 จังหวัดอีสานตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และขอนแก่น ในรายงานการสาธารณสุขไทย ปี 2550 พบว่า ภาวะโภชนาการเด็กก่อนวัยเรียนในภาคอีสาน มีอัตราการเป็นโรคขาดสารอาหารสูงกว่าภาคอื่นๆ ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์เพิ่มขึ้น และยังพบปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากการผลิตในภาคเกษตรกรรม

รายงานด้านปัญหาสุขภาพดังกล่าว สอดรับกับข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550 ที่พบว่าส่วนใหญ่การจ้างงานในภูมิภาค เป็นการจ้างแรงงานในภาคเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพของคนอีสานโดยตรง โดยชาวนาส่วนใหญ่ต้องเป็นหนี้มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงใช้สารเคมีที่ใช้ต้นทุนการผลิตสูง และผลผลิตถูกขายให้บริษัทเจ้าของสัญญาแบบผูกขาด มีการใช้ยาฆ่าแมลงสูง

โดยในแต่ละปี มีเกษตรกรไทยเสี่ยงต่ออัตราการเกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ เนื่องจากยาฆ่าแมลงทำให้เกิดความเสียหายต่อระดับดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อของร่างกาย ก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นโครงการด้านสุขภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนการลดใช้สารเคมี และเข้าถึงพื้นที่ในภาคอีสาน

การประชุมเชิงปฏิบัติการของหน่วยด้านสุขภาพ จึงถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นที่จัดขึ้น เพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนหาแนวทางในการสร้างพลังขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาพประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกิจกรรมทั้งภาคเช้าและภาคบ่ายวันนี้ (19 ก.ย.) จะมีการแยกกลุ่ม แบบคละจังหวัด 10 กลุ่ม เพื่อเล่าประสบการณ์ และเสนอกลไกในการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลในเป้าหมายเดียวกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น