มหาสารคาม - อดีตประธาน กกต.มหาสารคามไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ย้ำเป็นไปไม่ได้ทั้งในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะขัดข้อกฎหมาย ส่วนทางออกการเมืองคือ ต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือปฏิวัติ
ทันตแพทย์สุทธิทธิ์ วัณณสุทธางกูร อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม กล่าวถึงแนวคิดของรัฐบาลที่จะจัดทำออกเสียงประชามติสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่ายังสนับสนุนรัฐบาลต่อหรือไม่นั้นว่า เป็นไปไม่ได้ทั้งในทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ คือไม่มีกฎหมายรองรับ กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นกฎหมายใหญ่ เพื่อที่รองรับเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของบุคคล หรือคณะบุคคล เพราะฉะนั้นในกรณีที่บอกว่านายกรัฐมนตรีควรจะอยู่ หรือควรลาออกนั้น เป็นเรื่องของตัวบุคคล คณะรัฐบาลก็เป็นคณะบุคคล
อีกประการหนึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่เรียบร้อย ถึงจะเรียกร้องยังไงต้องรองรับกฎหมายรัฐธรรมนูญก่อน เป็นไปไม่ได้ในข้อกฎหมายที่จะมีการออกเสียงลงประชามติเพื่อที่จะบอกว่า นายกรัฐมนตรีควรจะอยู่หรือควรจะไป
หากเป็นหลักรัฐศาสตร์ ก็ใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในห้องเรียนมีนักเรียน 40 คน หัวหน้าห้อง มีพรรคพวกอยู่ 30 คน จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง แต่เพื่อนอีก 10 คนไม่เลือก บังเอิญหัวหน้าห้องไปขโมยของแล้วถูกจับได้ หัวหน้าห้องต้องลาออก แต่ไม่ลาออกบอกว่าให้เลือกหัวหน้าห้องใหม่ ถึงแม้ว่าเลือกคนใหม่ก็ได้คนเดิม อย่างนี้ชอบธรรมหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากทำผิด ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากมีคนทักท้วงเพียง 1-2 คน ถ้ารู้ตัวว่าไม่ดี หากว่ามีศีลธรรม จริยธรรม ก็ควรลาออก จะเอาเสียงข้างมากมาวัดกันไม่ได้ คือการออกเสียงประชามติ ในความเห็นคือไม่ควรทำ และทำไม่ได้ทั้งในด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อดีตประธาน กกต.จังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อว่า การเมือง ณ ขณะนี้ถึงทางตันหมดแล้ว หลายฝ่ายเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่นายกฯ ไม่ออก ไม่ยุบสภา การเมืองก็เลยตัน ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หมายถึง ไม่เอา ส.ส. ไม่เอานักการเมือง อย่างเมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังพฤษภาทมิฬ ก็เคยมีรัฐบาลแห่งชาติมาแล้ว อีกประการหนึ่งคือ ปฏิวัติ จะง่ายที่สุด แต่หลายฝ่ายอาจจะไม่ยอมรับ แต่หากการปฏิวัตินั้น ไม่ทำเพื่อพวกพ้อง ปฏิวัติเพื่อชาติบ้านเมือง ก็ถือเป็นจุดจบที่ง่าย หากผู้ปฏิวัติเป็นเผด็จการที่ดี แนวทางดี ขจัดนักการเมืองเลวออกไป แต่ก็คงยาก ถึงแม้ว่าจะออกกฎระเบียบจะออกมาดีเพียงใด ปัญหาอยู่ที่ว่า หากมีการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในบ้านเราต้องยอมรับว่าไม่มีคุณภาพ เมื่อไม่มีคุณภาพเราก็จะได้แต่นักการเมืองที่เป็นนักกินเมือง นักธุรกิจการเมือง พอได้รับเลือกตั้งก็คิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว แทนที่จะนึกถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ ทางออกในตอนนี้คือ ไม่ปฏิวัติ ก็ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ