xs
xsm
sm
md
lg

ถนนริมน้ำโขง อ.เชียงของทรุดอีก นายอำเภอสั่งสอบหวั่นสร้างผิดสเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย – ถนนริมน้ำโขง อ.เชียงของทรุดอีกใช้การไม่ได้ นายอำเภอสั่งเทศบาลสำรวจความเสียหายก่อนเสนอของงบผู้ว่าฯ ซ่อมแซม พร้อมสั่งคุมเข้มทุกโครงการก่อสร้างในพื้นที่หลังพบพิรุธถนนชำรุดง่าย หวั่นการก่อสร้างผิดสเปก

ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) บริเวณเรียบฝั่งแม่น้ำโขง ชายแดนไทย-ลาว เขตเทศบาล ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทรุดตัวตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่น้ำโขงไหลท่วมริมฝั่งชายแดน โดยล่าสุดตัวถนนได้ทรุดตัว เกิดรอยแยก บางส่วนตกลงในแม่น้ำโขง ทำให้ใช้การไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีถนนอีกหลายเส้นทรุดตัวทำให้ประชาชนหวั่ว่าบ้านเรือนปและร้านค้า ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง จะเกิดการทรุดตัวตามถนนไปอีก และร้องให้สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ

นายสุเทพ เตียวตระกูล นายอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ได้รับทราบปัญหาร้องเรียนของประชาชนเขตเทศบาล ต.เวียง กรณีการเกิดทรุดตัวของถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ก่อสร้างริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาล ต.เวียง ซึ่งมีความเสียหายอย่างหนัก จนต้องมีการสั่งปิดถนนเส้นดังกล่าว โดยนำเรื่องเสนอ นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ถนนสายดังกล่าวมีเทศบาล ต.เวียง อ.เชียงของ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารเทศบาล ระบุความเสียหายของถนนเส้นนี้เกิดขึ้นจากในช่วงเกิดอุทกภัยน้ำโขงท่วมพื้นที่ริมฝั่ง อ.เชียงของ โดยเบื้องต้นเกิดการกัดเซาะใต้ผิวถนนด้านล่าง และขอสนับสนุนงบประมาณบรรเทาสาธารณภัยจากจังหวัด แต่ด้วยข้อมูลและสาเหตุยังไม่ชัดเจน อำเภอจึงได้สั่งให้เทศบาล ไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่สามารถชี้ชัดได้ว่า ความเสียเกิดจากอุทกภัยน้ำท่วมให้ชัดเจนอีกครั้ง

นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ภัยธรรมชาติปีนี้ค่อนข้างรุนแรง มีผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างของราชการ ซึ่งต่อไปนี้จะต้องเข้มงวดในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของราชการ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขงทุกจุดใน อ.เชียงของ ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเสียงบประมาณในการซ่อมแซมแล้ว ยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้วย

มีรายงานว่าประชาชนในเขต อ.เชียงของ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าถนนสายดังกล่าว อาจจะมีการสร้างผิดสเปก หรือมีการฮั้วระหว่างดำเนินการ โดยใช้วัสดุผิดขนาด ทำให้เมื่อเกิดอุทกภัย จึงไม่สามารถรองรับการกระแทกหรือการกัดเซาะด้านล่างได้ และเมื่อมีการทรุดตัวในจุดหนึ่ง จึงทำให้เกิดผลกระทบถนนตลอดทั้งสาย
กำลังโหลดความคิดเห็น