พัทลุง - ในเดือน 11 วันออกพรรษา ที่จังหวัดพัทลุง มีงานประเพณีอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ อยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวชม นั่นคือ งานประเพณี " แข่งโพน-ลากพระ " ที่ชาวพัทลุง ร่วมกันอนุรักษ์ สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ก่อนที่วันออกพรรษา ประมาณ 1 เดือน วัด วา อาราม ต่าง ๆ มักจะทำโพน เพื่อใช้ในกิจกรรมของวัด และที่สำคัญ เพื่อนำมาใช้ให้จังหวะการลากพระ ( บุษบก ) ในวันออกพรรษา โดยพระภิกษุ สามเณร เด็กวัด ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่ละแวกวัด จะร่วมแรง ร่วมใจทำโพน
โพน เป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง รูปร่างคล้ายกลองทัด มี 3 ขา ตัวโพนทำโดยการขุด หรือเจาะจากต้นตาลโตนด หรือไม่ก็ไม้ขนุน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35-100 เซนติเมตร หน้าโพนหุ้มด้วยหนังวัว หรือหนังควาย ทั้ง 2 ด้าน ส่วนไม้ตีโพน มี 2 อัน มักจะใช้ไม้เนื้อแข็ง เนื่องจากว่ามีความทนทาน เช่น ใช้ไม้หลุมพอ
เทคนิคในการทำโพนของแต่ละวัดจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ทำ การทำโพน จึงมีความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกไม้มาเจาะเป็นตัวโพน การเลือกหนังวัว หรือหนังควายมาหุ้มโพน การหุ้มโพน แต่งโพนเพื่อให้มีเสียงตามความต้องการ
เมื่อแต่ละวัด หุ้มโพนเสร็จใหม่ ๆ ก็จะตี เพื่อทดลองเสียงว่าดังไกลแค่ไหน มีเสียงทุ้ม แหลมขนาดไหน จึงเกิดมีการประลองกันแต่ละวัดว่า โพนของวัดไหนดังกว่ากัน อันเป็นที่มาของการแข่งโพน ซึ่งการแข่งโพนจะนิยมแข่งขันในช่วงหัวค่ำ ก่อนออกพรรษา บรรดาศิษย์วัด และชาวบ้านที่อาศัยใกล้วัด จะนำโพนใส่รถเข็น เข็นไปยังจุดนัดหมาย เช่น ตามสีแยกต่าง ๆ ที่ไป-มาสะดวก ส่วนการตัดสิน จะฟังเสียงโพน เมื่อโพนวัดใดดังกว่า จะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้แข่งขัน หากเสียงโพนของวัดใดดังน้อยกว่า ถือว่าแพ้
ต่อมาเมื่อปี 2523 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ได้จัดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยจัดแข่งขันที่บริเวณสี่แยกเอเชีย บ้านท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เริ่มมีกติกาในการตัดสิน มีการประกบคู่โดยการจับฉลาก แข่งขันครั้งละ 2 ใบ แพ้คัดออก จนเหลือคู่ชิงชนะเลิศ ส่วนการตัดสิน จะมีคณะกรรมการบนเวทีเพื่อให้ความสะดวกและชี้ขาด สำหรับกรรมการให้คะแนน มี 3 คน จะแยกย้ายไปอยู่คนละจุด โดยห่างจากจุดแข่งขัน 500-1,000 เมตร คอยฟังเสียงโพนที่มีการแข่งขันแต่ละคู่ และส่งคะแนนมายังสนามแข่งขันโดยใช้วิทยุสื่อสาร หลังจากนั้นมีการจัดแข่งขันทุกปี
ต่อมาในปี 2530 การจัดงานแข่งโพน ได้ผนวกงานลากพระเข้าไปด้วย ( งานลากพระจัดในวันออกพรรษา เดิมจัดตามชุมชนต่าง ๆ 4-5 วัด จะมารวมจุดหนึ่ง ) การผนวกงานแข่งขันตีโพน กับงานลากพระเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อเรียกว่า " งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ" ขยายเวลาการจัดงานจากเพียงวันเดียว มาเป็น 4 วัน และเลื่อนสถานที่จัดงานจากสี่แยกเอเชีย มาจัดที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง
ในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขบวนแห่โพน และขบวนแห่เรือพระจากวัดต่าง ๆ การแข่งขันตีโพนชิงแชมป์ภาคใต้ การประกวดโพนสวยงาม การประกวดลีลาการตีโพน แข่งขันซัดต้ม การจัดนิทรรศการ และมหรสพ
ด้านนายโกสินท์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพัทลุงกล่าวว่า งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในปีนี้ ทางเทศบาลเมืองพัทลุง ร่วมกับจังหวัดพัทลุง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้เขต 1 หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจัดขึ้น เพื่อสืบสานงานประเพณี ให้คงอยู่สืบต่อไป และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง ถือเป็นงานใหญ่ อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากจะมีการแข่งตีโพนประเภทต่างๆแล้ว ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดธิดาโพน การแข่งขันตีโพนรุ่นเยาว์ การแสดงบนเวที การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และมหรสพ วันลากพระ จะมีขบวนแห่เรือพระที่สวยงาม โดยคาดว่าจะมีเรือพระจากวัดต่าง ๆ ทั่วจังหวัด มาร่วมขบวนแห่กว่า 50 วัด
นายโกสินท์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากการแข่งขันตีโพนรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 8-15 ตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว ในรอบคัดเลือกได้มีการจัดการแข่งขั้น ทั้งหมด 4 สนาม โดยสนามแรกที่สนามเทศบาลตำบลมะกออกเหนือ ในวันที่ 4-6 กันยายน สนามที่ 2 ที่บริเวณสนามหน้าองค์การบริหาร ส่วนตำบลตะแพน อ.ศรีบรรพต ในวันที่ 11-13 กันยายน สนามที่ 3 ที่สนามวัดไสหมากจันทาราม ต.ท่าแค อ.เมือง ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน และสนามสุดท้าย ที่สนามโรงเรียนโคกชะงาย ต.โคกชะงาย อ.เมือง ซึ่งผู้ชนะคัดเลือกการแข่งขันแต่ละรุ่น จะร่วมแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ต่อไป
งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย นับเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ที่ชาวพัทลุงร่วมกันสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมให้เป็นศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีอันมีค่าของไทยต่อไป
นักท่องเที่ยว ที่อยากจะเยือนเมืองลุง อย่าลืมเที่ยวงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ “จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน ฤ จะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง หมายเลขโทรศัพท์ 0-7461-2404 หรือสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคใต้เขต1 จ.สงขลา