ศรีสะเกษ - “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯบุกชายแดนเขาพระวิหาร เยี่ยมให้กำลังทหารและเจ้าหน้าที่ไทย เผย การปรับกำลังเป็นดุลพินิจและภารกิจของทหารต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ย้ำเตือนทุกภาคส่วนข้อตกลงไทย-กัมพูชา ปี 2543 พื้นที่ทับซ้อนต้องไม่ให้ฝ่ายใดเข้าไปยึดครองปลูกสิ่งปลูกสร้างเด็ดขาด อย่างที่ชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างบ้านเรือน ร้านค้าอยู่ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหารเป็นจำนวนมากในขณะนี้
วันนี้ (22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย นายสุทัศน์ เงินหมื่น กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป.ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทหารและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเขาพระวิหารชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งขณะนี้ยังมีทหารไทยและกัมพูชาตรึงกำลังอยู่จำนวนมาก
โดยมี นายไมตรี อินทุสุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย พ.อ.ชวลิต ชุนประสาน รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (รอง ผบก.กกล.สุรนารี) พ.ต.อ.วัฒนา เงินหมื่น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) ศรีสะเกษ และ นายณรงค์ พลละเอียด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ ท่ามกลางการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของทหารพราน สังกัดกองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) กองทัพภาคที่ 2
ทั้งนี้ คณะ นายชวน หลีกภัย ได้เดินสำรวจบริเวณผามออีแดง ที่สามารถมองเห็นชายแดนฝั่งประเทศกัมพูชาอย่างชัดเจน พร้อมเดินลงไปชมภาพแกะสลักนูนต่ำอายุกว่า 1,000 ปี ใต้ผามออีแดง และเข้ากราบไว้พระพุทธรูปนาคปรก ที่ประดิษฐานอยู่บนหน้าผามออีแดง ซึ่งสามารถมองเห็นปราสาทพระวิหารได้
นายชวน หลีกภัย อดีดนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป.กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อมาเยี่ยมให้กำลังใจแก่ทหารและเจ้าหน้าที่ไทยทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเขาพระวิหาร ซึ่งจากการที่ได้ตรวจเยี่ยมแล้ว พบว่า เจ้าหน้าที่ก็พยายามดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี ส่วนในระดับนโยบายก็พยายามเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารนี้อยู่อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไทยและกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ควรที่ใช้วิธีการเจรจากันในการแก้ไขปัญหาจะดีที่สุด ในส่วนของการปรับกำลังทหารนั้นฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคงคงต้องดูว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นภารกิจของฝ่ายทหารที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
“แต่ตามข้อตกลงระหว่าง ไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2543 นั้น จะต้องไม่ยอมให้ฝ่ายใดเข้าไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในเขตพื้นที่ทับซ้อนอย่างเด็ดขาด ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นที่กำลังมีการเจรจากันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากขณะนี้มีชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างบ้านเรือน ตั้งร้านค้า อยู่ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหารเป็นจำนวนมาก” นายชวน กล่าว