xs
xsm
sm
md
lg

จัดประชาพิจารณ์แผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 วางเป้าประชาชนเข้าถึงไม่น้อยกว่าร้อยละ50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ที่โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด อำเภอเมืองขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กระทรวงไอซีทีจับมือม.ขอนแก่น จัดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 พ.ศ.2552-2556 เผยภาพรวมพัฒนาไอซีทีไทยล้าหลังมาเลเซียและสิงคโปร์ พบจุดอ่อน ขาดความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ไม่พอและไม่ทั่วถึง วางวิสัยทัศน์แผนแม่บทฉบับ 2 พัฒนาไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) วางเป้าประชาชนเข้าถึง ไอซีทีไม่น้อยกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งเพิ่มบทบาทไอซีทีต่อระบบเศรษฐกิจมีสัดส่วนต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2556

วันนี้ (8 ส.ค.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552-2556 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ณ ห้องออคิดบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

วัตถุประสงค์การประชุมดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552-2556 จากตัวแทนส่วนงานต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนำข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่างๆ มาใช้ในการปรับปรุงร่าง และจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับสมบูรณ์ต่อไป

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ดัชนีชี้วัดประเทศไทยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านต่างๆ เมื่อปี 2549-2550 ที่ผ่านมา มีการพัฒนาอยู่ในระดับกลางในเวทีโลก และล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซียค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์มีการพัฒนาอยู่ในอันดับต้นๆของโลก

ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งอันดับการพัฒนา ICT ของประเทศไทยในทุกๆดัชนี คือ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ไม่เพียงพอและยังแพร่กระจายไม่ทั่วถึง ทำให้การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ของ ICT เพื่อต่อยอดองค์ความรู้การพัฒนาธุรกิจ การให้บริการของภาครัฐ ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดอ่อนของการพัฒนา ICT อาทิ งบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษาไม่เพียงพอและไม่สมดุล ระหว่างเมืองและชนบท ขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถขั้นสูง การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ประเทศไทยมีจุดแข็ง อาทิ มีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ ICT เพิ่มขึ้น นโยบายและโครงการของรัฐในการส่งเสริมการพัฒนาและการแพร่กระจาย ICT เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ และจากการประชุมหารือในหลายเวที มีข้อสรุปที่เห็นพ้องกันว่า ในแผน ICT ฉบับที่ 2 ควรมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนหลักประการ คือ คน และการบริหารจัดการ ICT และควรมีจุดเน้นที่ชัดเจนกว่าแผนแม่บท ICT ไม่ทำทุกเรื่อง

ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 ว่า จะพัฒนาประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาด ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความรอบรู้ สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สำหรับเป้าหมาย 3 ประการในการพัฒนาตามแผนแม่บทฉบับที่ 2 ประการแรกต้องทำให้ประชาชนมีความรอบรู้ สามารถเข้าถึง สร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ก่อเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

ประการต่อมา ยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ขึ้นอย่างน้อย 15 อันดับ ใน Networked Readiness Rankings ภายในปี พ.ศ.2556 และสุดท้ายเพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2556

สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทฯของกระทรวง ICT และเนคเทค ได้ทำการร่างแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 และจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะขึ้น ระหว่างวันที่ 4-13 สิงหาคม โดยจัดครั้งแรกเมื่อ 4 ส.ค.ที่จ.สงขลา และจ.อยุธยา 7 ส.ค.จัดที่จ.เชียงใหม่ ส่วนวันนี้ (8ส.ค.) จัดขึ้นที่จ.ขอนแก่น และจ.ชลบุรี และครั้งสุดท้าย 13 ส.ค.ที่กรุงเทพมหานคร

ดร.พันธ์ศักดิ์  ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ตามแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 วางเป้าประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึงสร้างสรรค์และใช้ไอซีทีอย่างมีวิจารณญาณ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น