ศูนย์ข่าวศรีราชา- เมืองพัทยา ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และองค์กรภาคธุรกิจ หลังมีแนวคิดเสนอเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านประชาชนขอให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ หยั่งเสียงความต้องการของคนท้องถิ่นหวั่นถูกฮุบโดยอำนาจรัฐ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางเมืองพัทยา ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และตัวแทนองค์กรภาคธุรกิจ หลังจากที่เมืองพัทยามีแนวคิด ในการเสนอให้พื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการเปิดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
นายอิทธิพล เผยว่า ปัจจุบันในส่วนของภาครัฐเองมีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสรรหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีการนำเสนอโครงการ และขอจัดสรรงบประมาณโดยตรงในการพัฒนาจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ท่องเที่ยวของประเทศ ก็กำลังเร่งดำเนินการเสนอตัวเข้าเป็นเขตพื้นที่พิเศษทางการท่องเที่ยวด้วย อาทิ จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เมืองพัทยา จึงมีแนวคิดในการเสนอขอให้มีการประกาศให้เมืองพัทยาเป็นแนวเขตพื้นที่พิเศษ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคต
ทั้งนี้ หากผลการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ เมืองพัทยาก็จะได้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่จะมีงบประมาณอุดหนุนจาก ครม.โดยตรง ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำโครงการไว้ 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เกาะไผ่ และโครงการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ใช้สอยเมืองบนทะเล พัทยาใต้ โดยเฉพาะโครงการที่สองนั้นที่ผ่านมาเมืองพัทยามีแนวคิดในการจัดทำถนนลานสาธารณประโยชน์ และศูนย์สรรพสินค้า เป็นแนวบนทะเลอ้อมไปยังด้านหลังอาคาร 101 ราย
“แต่เมื่อจะดำเนินการกลับไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะติดปัญหาในเรื่อง มติ ครม.ในปี 2546 ที่มีมติเห็นสมควรให้รื้อถอนอาคารรุกล้ำ 101 รายพัทยาใต้ จึงทำให้โครงการระงับไป แต่หากเมืองพัทยาได้รับการประกาศเป็นแนวเขตการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็จะมีโอกาสนำเรื่องเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณายกเลิกมติเดิม และขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการพัฒนาใหม่ๆ อาทิ การผลักดันโครงการรถไฟรางคู่จากสนามบินสุวรรณภูมิสู่เมืองพัทยา หรือการขอรับพื้นที่อ่างเก็บน้ำมาดูแลเพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในอนาคต” นายอิทธิพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมซักถามถึงผลดี-ผลเสียของการเป็นพื้นที่พิเศษดังกล่าว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต่างก็เห็นชอบเพียง แต่เห็นว่าควรให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากหวั่นว่าการยกพื้นที่เมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงให้ไปอยู่ในความดูแลของ อพท.นั้น อาจทำให้การบริหารจัดการตกไปอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่น
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะได้มีการประชุมหารือร่วมอีกครั้ง ก่อนจัดทำประชาพิจารณ์และนำผลสรุปเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาความเห็นชอบ ก่อนจัดส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมาดำเนินการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษต่อไป