แพร่ - ชาวสะเอียบร่วมปลูกป่าสักทองกว่า 2,000 ต้น ลดโลกร้อน อัด “รัฐบาล-สมัคร” ผุดไอเดียสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” พร้อมเดินหน้าต้านถึงที่สุด ชี้รายได้จากสัมปทานบังตาจนหน้ามืดเดินหน้าสร้างเขื่อนอย่างเดียว
นายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ เปิดเผยว่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกันปลูกสักทอง 2,000 ต้น บริเวณที่สาธารณะของหมู่บ้านดอนชัย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง และพระราชินี เพื่อให้ลูกหลานได้สานต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นโครงการนำร่องเพื่อช่วยโลกลดภาวะโลกร้อน ท้าชนความคิดนายกฯ สมัคร ที่หวังจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อลดโลกร้อนด้วย
ด้าน นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งการปลูกสักทองกว่า 2,000 ต้น เป็นหนึ่งในโครงการสักทองลดโลกร้อน ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล โดยป่าสักทองผืนนี้จะเป็นของชุมชน และลูกหลานเราจะช่วยกันรักษาไว้ให้ถึงที่สุด
นายพันสัก บัวลอย แกนนำกลุ่มเยาวชนตะกอนยม กล่าวว่า กิจกรรมการปลูกสักทองลดโลกร้อน เป็นการสร้างสำนึกให้แก่เยาวชนตะกอนยม สร้างสำนึกที่ถูกต้องให้กับเยาวชนให้กับลูกหลานสะเอียบ ไม่อยากให้เยาวชนสับสนว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้โลกร้อนได้อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าว
“การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นการทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายกว่า 24,000 ไร่ และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 20,000 ไร่ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้นไปทำลายโอโซน ก่อให้เกิดรูรั่วและภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกร้อน ซึ่งไม่ทราบว่านายกฯ ไปเรียนมาจากที่ไหนถึงเข้าใจผิดและสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ให้แก่สังคม ว่าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้โลกร้อนได้ หรือเงินงบประมาณในการสร้างเขื่อน รายได้จากการสัมปทานป่าบังตาคนแก่ทำให้ทำลายได้ทุกอย่าง”
ด้าน นายอุดม ศรีคำภา แกนนำคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า อยากจะให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเราชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ไม่ได้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่เพียงอย่างเดียว พวกเราร่วมกันปลูกต้นไม้ทุกปี ปลูกมาหลายพันไร่ บวชป่าทุกปีเพื่อรักษาป่าสักทอง และสืบชะตาแม่น้ำยมทุกปี เพื่อรักษาแม่น้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อลูกหลานในอนาคต
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะเอาพื้นที่ป่าสักทองไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เราจะต่อต้านให้ถึงที่สุด รวมทั้งเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทำแก้มลิง และทางเบี่ยงน้ำ หรือทำระบบเครือข่ายน้ำแบบใยแมงมุม แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ