ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ลงทุนอีสานครึ่งปีแรก ยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอ เฉียดหมื่นล้าน อนุมัติแล้ว 36 โครงการ รวม 4,632 ล้านบาท เผยอุตสาหกรรมการเกษตร,ชิ้นส่วนโลหะ-ยานยนต์และพลังงานทดแทนโตต่อเนื่อง โคราชครองแชมป์ลงทุนสูงสุด ขณะที่ทัพนักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่น ชี้ โครงการลงทุนผลิตยางพารามาแรงเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในแดนที่ราบสูงที่น่าจับตามอง ขณะที่พลังงานทดแทนแนวโน้วขยายตัวไม่หยุดรับวิกฤตน้ำมันแพง
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (จ.นครราชสีมา) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2551) มีโครงการยื่นคำขอรับการส่งเสริมจาก บีโอไอ ทั้งหมด 59 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 9,003 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงานประมาณ 10,000 คน ในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วทั้งสิ้น 36 โครงการ รวมเป็นมูลค่าเงินลงทุน 4,371 ล้านบาท การจ้างงาน 7,339 คน จึงมีโครงการรอพิจารณาอนุมัติอีกจำนวน 23 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 4,632 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,230 คน
อุตสาหกรรมโดดเด่นในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตฯชิ้นส่วนโลหะและยานยนต์ และ อุตฯ พลังงานทดแทน โดยในอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนใหญ่ที่นักธุรกิจให้ความสนใจลงทุน เช่น กิจการเลี้ยงสัตว์ระบบปิด (ไก่เนื้อ-ไข่ไก่-สุกรพันธุ์), โครงการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน, กิจการคัดคุณภาพข้าว อบพืช ไซโล รวม 13 โครงการ มูลค่าลงทุน 1,147 ล้านบาท
รวมทั้งกิจการผลิตยางพาราแปรรูปขั้นต้น เช่น ยางผสม ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าจับตามองในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา, สุรินทร์, บุรีรัมย์, อุดรธานี, นครพนม และหนองคาย โดยปีนี้มีโครงการยื่นขอส่งเสริมกว่า 6 โครงการ เงินลงทุน 540 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 109,440 ตัน/ปี และในอนาคตผลผลิตยางพาราภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จากนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรชาวอีสานหันมาปลูกยางพาราของรัฐบาลที่ผ่านมา
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโลหะและยานยนต์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ขยายการลงทุน เช่น โครงการผลิตแผ่นหลังคาเหล็กเคลือบ บริษัท เค.ซี.เมททอลชีท จำกัด ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 8 โครงการ รวมกำลังการผลิต 8.72 ล้านตารางเมตร เงินลงทุน 218 ล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา
นอกจากนั้น เป็นโครงการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร เช่น โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กและเครื่องจักรกลการเกษตร ของบริษัท เอ็ม.เอ็น.ที จำกัด กำลังการผลิต 13,200 ตัน/ปี เงินลงทุน 459 ล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา ,โครงการผลิตลูกสูบยานพาหนะ เช่น โครงการผลิตสูบยานพาหนะทั้งรถยนต์นั่งและมอเตอร์ไซค์ ของบริษัท ฮอนด้า เฟาดรี (เอเชียน) จำกัด กำลังการผลิต 4,300,000 ชิ้น/ปี เงินลงทุน 348 ล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีนโยบายโครงการรถยนต์ราคาประหยัดหรือ อีโคคาร์ (ECO- CAR) ของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น และบีโอไอส่งเสริมโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Package ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดทั้งการประกอบรถยนต์และการผลิตชิ้นส่วน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตในภูมิภาคนี้พัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้น เพื่อพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวทางด้านชิ้นส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ อุตสาหกรรมพลังงาน นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญในกิจการประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงในยุคน้ำมันโลกแพงไม่หยุด เช่น โครงการผลิตก๊าชชีวภาพ (Bio-gas) ของบริษัท ปุ๋ยไบโอนิก จำกัด ที่จ.ขอนแก่น , โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก (Bio-Mass) ของบริษัท ศรีแสงดาวไบโอเพาเวอร์ จำกัดเป็นโรงไฟฟ้าแบบกังหันไอน้ำโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 7,500 กิโลวัตต์/ปี เงินลงทุน 450 ล้านบาท ที่ จ.ร้อยเอ็ด , โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ที่ จ.อุดรธานี ของ บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งได้ขยายโครงการจากปีที่แล้วรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1,990 กิโลวัตต์ เงินลงทุนรวม 112 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังโครงการลงทุนขนาดตั้งแต่ 300-600 ล้านบาท ที่น่าสนใจ เช่น โครงการผลิตสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 34,800 ตัน/ปี เงินลงทุน 552.6 ล้านบาท , โครงการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เอ็มเอ็มไอ พรีซิชั่น แอสแซมบลิ(ไทยแลนด์) จำกัดกำลังการผลิต 109,000,000 ชิ้น/ปี เงินลงทุน 360 ล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา
นายสุวิชช์ กล่าวอีกว่า จากสถิติตัวเลขส่งเสริมการลงทุน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา จังหวัดที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนมากที่สุดในภาคอีสานยังคงเป็น จ.นครราชสีมา มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริมทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมเงินลงทุน 1,634 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2,644 คน มีสัดส่วนการลงทุนหุ้นไทยทั้งสิ้นร้อยละ 45 และโครงการร่วมหุ้นกับต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 45 ของโครงการทั้งหมด และ รองลงมา เป็น จ.อุดรธานี 4 โครงการ ,จ.บุรีรัมย์ -สุรินทร์ และ ขอนแก่น จังหวัดละ 3 โครงการ, จ.ชัยภูมิ-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด และ สกลนคร จังหวัดละ 2 โครงการ, จ.อุบลราชธานี-มหาสารคาม-มุกดาหาร และหนองคาย จังหวัดละ 1 โครงการ
สำหรับสัดส่วนการลงทุนในภาคอีสาน ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนโดยหุ้นไทยทั้งสิ้นร้อยละ 64 เป็นโครงการร่วมหุ้นระหว่างไทยและต่างชาติร้อยละ 28 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เบลเยียม ฝรั่งเศส มาเลเซีย และสิงคโปร์ และ ลงทุนโดยต่างชาติทั้งสิ้น ร้อยละ 8 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และ ออสเตรเลีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติ ยังเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อประเทศไทยนั้น มาจากความเชื่อมั่นในด้านความต้องการของตลาดต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ยังจูงใจให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่นักลงทุนยังมีความกังวลใจ คือ เรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศขณะนี้ ” นายสุวิชช์ กล่าว