ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “พล.อ.เสถียร” ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำ ปชช.ชาวโคราชทุกหมู่เหล่า ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 1,500 ไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอุทยานฯ ทับลานมรดกโลกอันดับ 2 ของไทยและเป็นแหล่งต้นน้ำ 3 เขื่อนใหญ่โคราช เนื่องในวโรกาสในหลวงทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เผยตั้งเป้าปลูกป่าครบ 8,400 ไร่ทั่วประเทศในปี 2554 ด้าน “ไก่ ปวีณา” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกร่วมปลูกต้นไม้ครั้งนี้ด้วย
วันนี้ (14 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่แปลงปลูกป่า เทือกเขาจมูกแขก อุทยานแห่งชาติทับลาน ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีเหล่าทหาร ข้าราชการ ครู นักเรียน และประชาชนเข้าร่วมปลูกป่าเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2554 และเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวมถึงเพื่อสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมให้ราษฏรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ 2 ฝั่งลำห้วยบนพื้นที่ต้นน้ำ กักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำและชะลอการไหลบของน้ำ
โดย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ พร้อมด้วย “น้องไก่” ร.อ. (หญิง) ปวีณา ทองสุข เจ้าของเหรียญทองกีฬายกน้ำหนักหญิงโอลิมปิก และประชาชน ได้ช่วยกันปลูกต้นไม้ เช่น ต้นกันเกรา, ประดู่, ยางนา, เต็งและ รัง ในพื้นที่ 500 ไร่ พร้อมสร้างฝายกึ่งถาวร และปล่อยนกป่าคืนสู่ธรรมชาติอีกกว่า 100 ตัว เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ต่อไป
พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำและป่าอนุรักษ์เฉลิมพระเกียรติฯ กองทัพไทยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นป่า ด้วยการปลูกป่าฯ ให้ครบ 8,400 ไร่ทั่วประเทศในปี 2554 โดยมอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับที่ จ.นครราชสีมา เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการปลูกป่าจำนวน 1,500 ไร่ ในพื้นที่ปลูกป่าบริเวณเทือกเขาจมูกแขก จำนวน 500 ไร่ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นมรดกโลกลำดับที่ 2 ของประเทศไทย และเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธาร จำนวน 1,000 ไร่ และสร้างฝายกึ่งถาวรจำนวน 73 แห่ง บริเวณเหนือเขื่อนลำมูลบน, เขื่อนลำปลายมาศ และเขื่อนลำแชะ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป