กาฬสินธุ์- ชาวนาเมืองน้ำดำแห่เปิบพิสดาร นำค้างคาวมาประกอบเป็นอาหารรสเด็ด ทั้งก้อยสดและลาบเลือด เชื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้ผลชะงัด และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ขณะที่นายแพทย์สาธารณสุขเตือน ควรบริโภคค้างคาวที่ผ่านการปรุงสุก เพื่อป้องกันโรคท้องร่วงและโรคไข้หวัดนก
นายสำเร็จ เสนาธง อายุ 59 ปี ราษฎรหมู่ 4 ตำบลบัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อันมีสาเหตุจากการทำนา ที่กินยาหลายขนานแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงชวนเพื่อนบ้านออกหาจับค้างคาว ที่อาศัยอยู่ตามต้นตาลมาประกอบเป็นอาหาร เพราะมีความเชื่อว่าเลือดและเนื้อของค้างคาว มีสารอาหารพิเศษที่ช่วยบำรุงร่างกาย ที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรง หายเหนื่อยเพลีย
เนื้อค้างคาวสามารถทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ปิ้ง ทอดกรอบ อ่อม ก้อย ผัดเผ็ด บางคนก็ชอบกินสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อย หรือลาบเลือด หรือนำค้างคาวตัวเป็นๆหรือเลือดค้างคาวมาดองเหล้า สำหรับดื่มบำรุงร่างกาย เพราะมีความเชื่อว่าได้ผลดี หรือมีสรรพคุณดีกว่าการทำให้สุก โดยเฉพาะจะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศได้อย่างดีเลิศ
ฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยทองและชาวนาชาวไร่ จึงนิยมบริโภคค้างคาวกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้ผล บริโภคแล้วหายปวดเมื่อยตามร่างกาย และเสริมสมรรถภาพทางเพศได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายแพทย์พิสิทธ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารสุขจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่า ค้างคาวมีหลายชนิด ชนิดที่ชาวบ้านนำมาบริโภค เป็นค้างคาวหนู ที่ชอบอาศัยอยู่ในที่มืดและออกหากินเวลากลางคืน
อย่างไรก็ตาม การบริโภคค้างคาวจึงควรทำให้สุกหรือผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เพื่อที่จะไม่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคไข้หวัดนก ตลอดทั้งเชื้อพยาธิ
นอกจากนี้ จากที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการบริโภคค้างคาวดิบๆ หรือการนำค้างคาวมาดองเหล้า เพื่อแก้ปวดเมื่อยหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดและควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วย
ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย ควรปรึกษาหมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะเป็นวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ดีกว่าจะคาดเดาเอง อย่างการบริโภคเนื้อค้างคาวสุกๆ ดิบๆ ที่อาจจะให้โทษมากกว่าให้คุณ