ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสานโคราช ทุ่มงบฯ กว่า 16 ล้าน ตั้งศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม หรือ “CIC” สมบูรณ์แบบแห่งแรกในภาคอีสาน หวังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและตอบสนองความต้องการโรงงานขนาดใหญ่ในภูมิภาคที่ราบสูง เผยมีโรงงานอุตฯ แสดงความจำนงเข้าใช้บริการแล้วกว่า 250 แห่ง เตรียมขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มโรงพยาบาล และสถานประกอบใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล
วันนี้ (3 ก.ค.) รศ. ดร.วินิจ โชติสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคใกล้เคียงให้ได้มาตรฐาน จึงได้จัดตั้งศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม (ศทอ.) หรือ Center of Industrial Instrument Calibration : CIC ขึ้น ที่อาคาร 13 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางไฟฟ้า , ห้องมาตรวิทยาทางกล และห้องมาตรวิทยาทางอุณหภูมิ โดยใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นกว่า 16 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด เครื่องมือทดสอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานสากาลและมาตรฐาน ISO 9000 ซึ่งได้กำหนดให้มีการสอบเทียบเครื่องมือวัดเครื่องมือทดสอบที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยการนำเครื่องมือมาทำการสอบเทียบกับห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางด้านต่างๆ เพื่อคงระดับมาตรฐานของเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมแห่งนี้ ถือเป็นแห่งแรกในภาคอีสานที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา และ ได้รับความสนใจผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีระบบ ISO รองรับกว่า 200 แห่ง เข้าเยี่ยมชมศูนย์ และแสดงจำนงที่จะเข้ามาใช้บริการ
รศ. ดร.วินิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และภาคอีสาน ต้องนำเครื่องมืออุตสาหกรรมไปทำการสอบเทียบเครื่องมือวัดไกลถึงกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้สูญเสียเวลา ค่าเสียขนส่งมาก และต้องเข้าคิวรอนาน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบเครื่องมือวัดค่อนข้างสูง ฉะนั้นศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน แห่งนี้จะเป็นสถานที่รองรับการให้บริการได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญราคาค่าบริการถูกกว่ากรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
“ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมแสดงความจำนงที่จะเข้าใช้บริการกับทางศูนย์ฯ แล้วกว่า 250 แห่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ศูนย์ฯ ไม่ได้ให้บริการเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เรามีเป้าหมายที่จะขยายไปยังโรงพยาบาล สถานประกอบการต่างๆ ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ต้องได้มาตรฐานสากลและมีความแม่นยำสูง เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิ เครื่องมือการแพทย์ชนิดอื่น ๆ ” รศ.ดร.วินิจ
รศ.ดร.วินิจ กล่าวต่อว่า ภายในศูนย์สอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม หรือ ศทอ. แบ่งห้องปฏิบัติการออกเป็น 3 ส่วน ทุกห้องต้องควบคุมอุณหภูมิและระดับความชื้นเป็นพิเศษเพื่อให้เครื่องมือวัดมีค่าคงที่ได้มาตรฐาน โดยส่วนที่ 1 คือ “ห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางไฟฟ้า” สำหรับสอบเทียบทางด้านไฟฟ้า มีอุปกรณ์หลักๆ ประกอบด้วย เครื่องมือมาตรฐานสำหรับสอบเทียบ เช่น calibrator ซึ่งเป็นตัวอ้างอิงสำหรับสอบเทียบเครื่องมือวัดที่ต้องใช้ในระบบการผลิต ซึ่ง ศทอ. มี calibrator 2 ระดับ คือ ระดับ 6 หลักครึ่ง และระดับ 8 หลักครึ่ง ,แรงดันมาตรฐานกระแสตรง (standard cell) ,เครื่องวัดกระแสสลับมาตรฐาน (AC measurement standard) และ มาตรฐานถ่ายโอน (transfer standard) ที่สามารถสอบเทียบเครื่องวัด และ สามารถให้บริการสอบเทียบตัว calibrator ถึงระดับ 6 หลักครึ่ง
ส่วนที่ 2 เป็น “ห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางกล” เป็นชุดทดสอบหรือวัดค่าเครื่องมือสร้างแรงบิด เช่น ทอร์ค ( Torque Wrench ) , เครื่องวัดแรงดึง/แรงกด ได้ภายในชุดเดียวกัน โดยตัวแท่นชุดทดสอบสามารถทดสอบแรงบิดได้ถึง 2,500 lbf.ft. มี Torque Transducer ที่วัดได้ถึง 1,000 lbf.ft และ มี Accuracy ± 0.1% of Reading นอกจากนี้เครื่องมือวัดดังกล่าวแล้ว ทาง ศทอ.ยังมีเครื่องมือวัดทางมิติ และเครื่องมือวัดทางความดันหรือสุญญากาศด้วย
ส่วนสุดท้าย คือ “ห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาทางอุณหภูมิ” ใช้ในการสอบเทียบทางด้านอุณหภูมิ ศทอ. สามารถให้บริการสอบเทียบอุณหภูมิตั้งแต่ช่วง -45° / 278 °C โดยมีเครื่องกำเนิดอุณหภูมิ และใช้ตัววัดอุณหภูมิอ้างอิง สามารถสอบกลับมาตรฐานสากลและแห่งชาติได้ โดยการสอบเทียบจากห้องปฏิบัติการสอบเทียบอุณหภูมิที่ได้รับการรับรองตาม ISO 17025