xs
xsm
sm
md
lg

กรมการข้าวหนุนปลูกข้าวเหนียวดำพันธุ์โบราณล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมการข้าวเดินหน้าหนุนเกษตรกรภาคเหนือตอนบนรื้อฟื้นการปลูกข้าวก่ำ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณและขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พร้อมเตรียมเดินหน้าส่งเสริมการบริโภคและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ชูจุดขายคุณค่าโภชนาสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระ

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดการสัมมนาหัวข้อ “ข้าวก่ำล้านนา : สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวในเขตภาคเหนือ” เพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาส่งเสริมการปลูกข้าวก่ำ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภาคเหนือ พร้อมทั้งทำการเปิดนิทรรศการ “ศาลาข้าวไทย” ซึ่งเป็นการจัดแสดงพันธุ์ข้าวต่างๆ ของไทย และการใช้ประโยชน์จากข้าว ทั้งการนำมารับประทานและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวก่ำเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองโบราณของภาคเหนือตอนบน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการปลูกลดน้อยลงมากจนน่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญหายไปได้ ทางกรมการข้าวจึงได้มีความพยายามที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้มีการปลูกข้าวก่ำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อรักษาข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภาคเหนือเอาไว้ให้คงอยู่ และสนับสนุนการนำข้าวก่ำล้านนาขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ปลูกและผู้ค้าข้าว เพื่อรวบรวมข้อมูลในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาส่งเสริมและรื้อฟื้นการปลูกข้าวก่ำให้แพร่หลายต่อไป

สำหรับคุณลักษณะของข้าวก่ำนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นข้าวเหนียวดำ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารแกมมาโอรีซานอล และแอนโทไซยานิน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาพื้นบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาใช้รักษาโรคและนิยมนำมาบริโภคเป็นขนมพื้นบ้านทางล้านนาด้วย ทั้งนี้สาเหตุที่การปลูกข้าวก่ำลดน้อยลงเป็นเพราะเกษตรกรหันไปปลูกข้าวขาวกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าวขาวสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการขายและเก็บไว้บริโภค ขณะที่การปลูกข้าวก่ำใช้ได้เพียงเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันการปลูกข้าวก่ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะมีลดน้อยลง แต่ที่จริงแล้วผลผลิตข้าวก่ำได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศพอสมควร เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เป็นต้น โดยนำข้าวก่ำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งในอนาคตหากการรื้อฟื้นการปลูกข้าวก่ำให้ประสบความสำเร็จก็จะมีการส่งเสริมการตลาดและการบริโภคข้าวก่ำให้มากขึ้นไปพร้อมกันด้วย โดยจะชูจุดขายที่คุณค่าทางโภชนาการของข้าวก่ำที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เชื่อว่าน่าจะได้รับความสนใจอย่างดีจากผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น