xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ-เอ็นจีโอ-คนสะเอียบ” ท้าหมักพิสูจน์ป่าสักแก่งเสือเต้นเสาร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพร่ – “นักวิชาการ-เอ็นจีโอ-ชาวบ้านกรรมการสิทธิ์” ร่วมประณาม “หมัก” มุ่งสร้าง 3 เขื่อนยักษ์ ท้านายกฯนอมินีร่วมลงพื้นที่นับ “สักทอง” แก่งเสือเต้น พร้อมกับขบวนชาวบ้าน-สื่อ 21-22 มิ.ย.นี้และเตรียมจัดสัมมนาใหญ่ระดมพลังต้านทุนนิยมชิงทรัพยากรท้องถิ่น

การทำลายป่าดงสักงาม ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ด้วยการส่งมือดีเข้าใช้สารเคมี วางยาฆ่าต้นสักทองขนาดใหญ่จนต้องยืนตายนับ 10,000 ต้น เมื่อ 4 เดือนก่อน แต่โชคดีที่ชาวบ้านพิทักษ์ป่าของชุมชนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เข้าตรวจพบ พร้อมกับออกมาแฉว่าจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯไม่ถึง 1 กม.นั้น ดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 15 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา ที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยระบุชัดว่า “ป่าดงสักงามเสื่อมสภาพไปแล้วมีต้นสักอยู่ไม่ถึง 50,000 ต้น และมีนกยูงโง่ๆ อยู่เพียง 3 ตัว ถ้าสร้างเขื่อนแล้วนกยูงยังไม่อพยพหนีก็ให้มันตายไปเถอะ”

นอกจากนี้ นายสมัครยังได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันโครงการชลประทานในภาคเหนือ ได้แก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัทจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ซึ่งในบางโครงการตั้งอยู่ในประเทศพม่า คือเขื่อนฮัทจี และเขื่อนท่าซาง

จากแนวทางการพัฒนาดังกล่าว คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กฟ.อพช.) ได้ร่วมกับนักวิชาการและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เปิดร่วมหารือกันที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความสนใจผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฮัทจีและท่าซาง ในพม่า, นายศรชัย อยู่สุข แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่

ที่ประชุมมีผลสรุปว่า การออกมาเคลื่อนไหวสร้างเขื่อนดังกล่าวเป็นการรีบเร่งที่จะเอาโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมดำเนินการในสมัยรัฐบาลทักษิณออกมาปัดฝุ่นใหม่ ซึ่งอาศัยสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง โดยไม่ฟังเสียงประชาชนหรือผลกระทบที่ผ่านกระบวนการศึกษามาแล้ว

นายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอให้ประชาชนต้องออกมาตื่นตัวในการพิทักษ์สิทธิของตนเอง และศึกษาข้อมูลผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งต้องจับมือกันต่อต้านทุกรูปแบบ เยาวชนที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ให้ส่งข้อความความเดือดร้อนของประชาชนกระจายไปให้ทั่วประเทศ จะเป็นการประจานการทำงานของรัฐที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน

นางสาวเพียรพร กล่าวว่า ไม่เพียงเขื่อนแก่งเสือเต้นเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบกับคนไทย เขื่อนฮัทจี เขื่อนท่าซาง จะก่อให้เกิดผลกระทบในต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งในที่สุดผู้อพยพจะต้องอาศัยดินแดนไทยในการลี้ภัยมากขึ้น ขณะเดียวกัน กลับส่งผลดีให้กับนักธุรกิจจากไทย จีน และพม่าอย่างแน่นอน

นายเสน่ห์ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนดังกล่าวเป็นการรุกของกลุ่มทุนที่ใช้ทรัพยากรอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศออกมาถือเป็นเสียงของกลุ่มทุนที่กำลังรุกคืบไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรจากคนในท้องถิ่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติที่จะจัดสัมนาใหญ่ในปัญหาดังกล่าวโดยจะมีการระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญพร้อมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจัดประชุมครั้งใหญ่ เพราะถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เข้ามาถึงจุดวิกฤตที่ทุนนิยมกำลังต้องการดูดพลังงานและทรัพยากรไปจากชุมชน

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมยังท้าทายให้นายสมัครลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำแม่ยม ด้วยตนเอง ในวันที่ 21-22 มิ.ย.นี้ ซึ่งสื่อมวลชนสายสิ่งแวดล้อมจะเดินทางไปยังป่าดงสักงาม เพื่อพิสูจน์คำพูดของนายสมัคร
กำลังโหลดความคิดเห็น