xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติหนุนใช้ E85 ลดขาดดุลการค้า-พึ่งตนเองยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก๊สโซฮอล์ พลังงานทดแทนที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย หากผลักดันให้ใช้แก๊สโซฮอล์อี85 จะช่วยลดขาดดุลนำเข้าน้ำมันต่างประเทศลงมาก และเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสานวิจัย พลังงานทดแทน “แก๊สโซฮอล์” ทางออกน้ำมันแพง ชี้ถึงเวลาใช้แก๊สโซฮอล์ E85 แก้วิกฤตราคาน้ำมัน ยกเหตุผลเกิดประโยชน์รอบด้าน ทั้งช่วยลดขาดดุลการค้านำเข้าน้ำมันทันที พร้อมดูดซับผลผลิตเอทานอลส่วนเกิน ขณะที่เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงานรองรับ พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แนะภาครัฐสนับสนุนจริงจัง นำมาตรการลดภาษีสรรพสามิตให้รถยนต์ E85 ในอัตราต่ำพิเศษ ควบคู่ดึงกลุ่มผู้ใช้รถเก่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์รองรับ สร้างความมั่นคงพลังงาน

จากการนำเสนอผลงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) ในงานสัมมนาวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยในหลายประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ จัดขึ้นที่โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน หน่วยภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจ เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก

หนึ่งในผลงานวิจัยชิ้นสำคัญ “ผลกระทบจากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีต่อภาคเกษตรกรรมและดุลการค้าไทย” โดยนายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส ส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้วิจัยและนำเสนอเนื้อหาในเวทีสัมมนาวิชาการดังกล่าว

วัตถุประสงค์วิจัยเรื่องดังกล่าว เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์การผลิต และการใช้เอทานอล เพื่อใช้ในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ การศึกษามีต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล การศึกษาความเพียงพอของมันสำปะหลังและอ้อย โดยพิจารณาจากแนวโน้มของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 ในปัจจุบัน และผลจากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 , E100 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังศึกษาถึงผลการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ต่อการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และสาร MTBE (Methyl tertiary butyl ether) รวมถึงผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและกากน้ำตาล

นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส ส่วนวิชาการ ธปท.สภอ. เปิดเผยว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์หรือน้ำมันเบนซินผสมกับเอทานอล เป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย นอกจากจะทำให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้น ผลจากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 3 ชนิดคือ แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ทำให้พลังงานทดแทนหลายชนิดได้รับความสนใจจากผู้ใช้รถยนต์สูงมาก
ผลการศึกษาพบว่า การสูงขึ้นของราคาน้ำมันทำให้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับทางการกำหนดให้ยานพาหนะของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมถึงการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์และจูงใจผู้บริโภคผ่านสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์จะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาโรงงานเอทานอลกลับประสบปัญหาอุปทานล้นตลาด โรงงานเอทานอลต้องปรับตัวโดยการส่งออกเอทานอลไปจำหน่ายยังต่างประเทศ กอปรกับผลจากความต้องการวัตถุดิบโดยเฉพาะมันสำปะหลังที่เพิ่มสูงขึ้น จากความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลเพิ่มสูงมาก

ผลจากต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่งผลให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดผลิต เนื่องจากราคาจำหน่ายเอทานอลต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม โรงงานเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาลยังมีความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากราคาวัตถุดิบกากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นไม่มากนัก

ข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้คำนวณต้นทุนการผลิตเอทานอลพบว่า เอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล 1 ตันผลิตเอทานอลได้ 260 ลิตร มีต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 17.5 บาท/ลิตร ส่วนเอทานอลผลิตจากมันสำปะหลัง 1 ตันผลิตเอทานอลได้ 180 ลิตร มีต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 18.4 บาท/ลิตร ขณะที่ราคารับซื้อเอทานอลที่อ้างอิงราคาประเทศบราซิลบวกค่าขนส่งรับซื้อล่าสุดที่ 17.54 บาท/ลิตร ไม่จูงใจเกิดการผลิตเชิงอุตสาหกรรม

จากการสำรวจพบว่า ณ ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลที่เดินเครื่องผลิตทั้งสิ้น 9 โรงงาน กำลังผลิตรวมประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการเอทานอลมาใช้ผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 8 แสนลิตร/วัน ความต้องการใช้เอทานอลยังจำกัดสำหรับผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 ทำให้โรงงานเอทานอลโดยรวมเดินเครื่องจักรไม่เต็มกำลังผลิต

ที่สำคัญยังมีโรงงานเอทานอลที่ก่อสร้างเสร็จและจะเดินเครื่องผลิตภายในสิ้นปี 2551 รวมทั้งสิ้น 19 โรงาน กำลังผลิตรวม 2.9 ล้านลิตร/วัน ซึ่งตามกรอบการเปิดเสรีผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบัน มีโรงงานเอทานอลที่ขออนุญาตไว้จำนวน 45 แห่ง ดังนั้นยังไม่มีความจำเป็นจะต้องก่อสร้างโรงงานเอทานอลทั้งหมด เนื่องจากจะเป็นการเร่งให้เกิดอุปทานส่วนเกินของเอทานอลมากขึ้น

หนุนแก๊สโซฮอล์ E85 สร้างความมั่นคงพลังงาน

สถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับขึ้นเร็วมาก ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แนวโน้มราคายังสูงขึ้นอีกมาก ซึ่งประเทศไทยพึ่งพานำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จากต่างประเทศ ทำให้เสียดุลการค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ประชาชนทั้งประเทศความเกิดเดือดร้อน เงินเฟ้อพุ่ง รายได้หลักต้องจ่ายเป็นค่าน้ำมัน สินค้าทุกชนิดราคาแพง ประชาชนลดการบริโภค

ดังนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมยุทธศาสตร์การใช้พลังงานทดแทน ที่ผลิตได้ในประเทศ โดยเฉพาะการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันลงมาก ที่สำคัญทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้น เป็นวันละ 11-13 ล้านลิตร ส่วนประชาชนจ่ายค่าน้ำมันลดลง จากการคำนวณราคาเบนซินลิตร 40 บาท ราคา E 10 อยู่ที่ 37.7 บาท E20 อยู่ที่ 35.4 บาท E85 อยู่ที่ 20.5 บาท และหากเบนซินลิตรขึ้นไปถึงลิตรละ 50 บาท E10 อยู่ที่ 46.7 บาท E20 อยู่ที่ 43.4 บาท E85 อยู่ที่ 22 บาท

ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ผลิตได้แล้วในต่างประเทศหลายบริษัท ทั้งฟอร์ด เจนเนอรัล มอเตอร์ส วอลโว่ หากรัฐมีมาตรการส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตกับรถยนต์ E85 ให้ต่ำกว่า E20 รวมถึงสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้รถยนต์เก่าปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ให้รองรับ E85 อย่างทั่วถึง เชื่อว่าจะทำให้การใช้แก๊สโซฮอล์ E85 สำเร็จเป็นรูปธรรม

ส่วนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E100 จะต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านการผลิตของโรงงานเอทานอล และการเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอ ที่น่าสนใจ ผลจากการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น มีส่วนช่วยให้การนำเข้าน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปลดลง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถประหยัดการนำเข้าสาร MTBE คิดเป็นมูลค่า 3,000-26,000 ล้านบาท และลดการนำเข้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่า 5,000-25,000 ล้านบาท

ผู้วิจัยกล่าวต่อว่า ผลดีของการใช้น้ำมัน E85 จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เข้ากับหลักทฤษฎีเกษตรพอเพียง โดยมุ่งใช้วัตถุดิบในประเทศมาแปรรูปเป็นพลังงาน เพาะปลูกพืชพลังงานให้เพียงพอป้อนให้แก่โรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 45 โรงงานต้องเดินเครื่องจักรผลิตเต็มกำลังผลิตที่ 10.8 ล้านลิตร

ดังนั้น จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจาก 6.2-6.7 ล้านไร่ เป็น 12.3-18.9 ล้านไร่ และมันสำปะหลังจาก 7.2-7.6 ล้านไร่ เป็น 8.5-9.4 ล้านไร่ หรืออีกแนวทางต้องเพิ่มผลิตต่อไร่ อ้อยจาก 9.6-11.1 ตัน/ไร่ เป็น 29.0-30.6 ตัน/ไร่ มันสำปะหลังจาก 3.7-3.8 ตัน/ไร่ เป็น 4.1-4.7 ตัน/ไร่

นายโรจน์ลักษณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาโอกาสการขยายพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่อ้อยแล้ว มีโอกาสเป็นไปได้น้อย โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 30 ตัน/ไร่ ต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีการผลิต ส่วนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่มันสำปะหลังให้ถึง 5.3-6.1 ตัน/ไร่ น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้สูงกว่าที่จะทำให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการผลิตเอทานอล

จี้ทุกฝ่ายวางแผนแก้ปัญหาพลังงานประเทศ

สำหรับข้อเสนอแนะการศึกษาครั้งนี้ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทน้ำมัน และบริษัทยานยนต์ต่างๆ มีการประสานงานและวางแผนการปรับโครงสร้างการใช้น้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และยานพาหนะ E85 ทันที เนื่องจากในปัจจุบันมีบริการหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ควรเร่งขยายบริการหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่สถานีบริการน้ำมัน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้สอดรับกับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อีกทางหนึ่ง

ขั้นตอนต่อไปควรมีการวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยด้านการผลิตวัตถุดิบควรเน้นการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เนื่องจากมีโอกาสพัฒนาผลผลิตต่อไร่ และขยายพื้นที่ภายในประเทศบางส่วน รวมถึงการขยายพื้นที่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานควรมีการวางแผนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ควบคู่กับการใช้ก๊าซธรรมชาติ CNG (Compressed Natural Gas) ในลักษณะคู่ขนานอย่างเหมาะสมไม่แข่งขันกันเอง และควรใช้มาตรการจูงใจ เช่น การลดอัตราภาษีต่างๆ ของรถยนต์และอุปกรณ์สำหรับใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และ NGV (Natural Gas Vehicle) ให้มีอัตราต่ำกว่ายานพาหนะอื่นอย่างชัดเจน สำหรับการใช้รถยนต์ E100 ควรใช้เป็นมาตรการระยะยาว เพื่อวางแผนด้านการผลิตเอทานอล และเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น