เชียงราย – ราษฎรชนเผ่าเชียงราย 5 รายโวยถูกแก๊งอ้างตัวเป็นข้าราชการและผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ในอำเภอแม่สายหลอกเงินครึ่งล้านบาท ช่วยทำบบัตรประตับคนบนพื้นที่สูง สุดท้ายได้เพียงบัตรปลอม
นางสาวภาริดา (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ราษฎรเผ่าไทยลื้อ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ร้องทุกข์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนและเพื่อน 5 รายได้ถูกกลุ่มคนที่อ้างเป็นข้าราชการรัฐ และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์บางคนในพื้นที่ อ.แม่สาย หลอกลวงเป็นเงิน 500,000 บาท แลกกับการทำบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูง (บัตรเขียวขอบแดง) และการได้สัญชาติไทยโดยผิดกฎหมาย
โดยหนึ่งในผู้เสียหาย ให้รายละเอียดว่า กลุ่มขบวนการที่เข้ามาติดต่อทำบัตรดังกล่าว มีด้วยกัน 4 คน คนแรก อ้างชื่อว่าจันทร์ฉาย คนที่ 2 ชื่อนางต้อย อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่อำเภอ และ คนที่ 3 และ 4 เป็นสามีภรรยากันอ้างว่า เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ในพื้นที่
ทั้งนี้ เรื่องเกิดตั้งแต่เมื่อปี 2546 ที่ตนได้ไปรู้จักกลุ่มขบวนการกลุ่มนี้ ซึ่งคนทั้ง 4 คน อ้างว่ารู้จักข้าราชการฝ่ายปกครองและผู้ใหญ่ สามารถทำบัตรประชาชนและบัตรคนไทยให้ได้ และมีการเรียกตนไปพบที่ร้านขายข้าวแกงใน อ.แม่สาย หว่านล้อมว่าเป็นโอกาสทองแล้ว ให้คว้าไว้ หากพ้นช่วงนี้ ก็จะไม่มีโอกาสได้รับบัตรประตัวหรือสัญชาติไทยแล้ว ตนเห็นว่าน่าเชื่อถือจึงตกลงยอมทำ ซึ่งตนยังได้ไปชักชวนเพื่อนและญาติ รวมทั้งหมด 5 คน มาคุยกัน และทุกคนอยากที่จะมีบัตรประจำตัวคนไทย จึงยอมที่ทำในครั้งนั้น
โดยผู้หญิงที่อ้างเป็นผู้สื่อข่าว ได้บอกว่าขอเก็บเงินหัวละ 100,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ ซึ่งตนและเพื่อน ได้แบ่งจ่ายออกเป็นคนละ 3 งวด งวดแรกจ่ายไปคนละ 70,000 บาท ส่วนงวดที่ 2 และ 3 จ่ายไปคนละ 15,000 บาท ซึ่งหลังจากจ่ายเงินไปได้ 3 วัน ทางกลุ่มขบวนการก็ได้นำบัตรเขียวขอบแดง ระบุชื่อของพวกตนทั้ง 5 โดยมีตราประทับราชการและมีชื่อปลัดปรากฏบนบัตร นำมาให้ตามสัญญา แต่ได้กำชับว่าอย่านำไปใช้ ซึ่งตนเอะใจว่าจ่ายเงินทำไปแล้วทำไมใช้ไม่ได้
เมื่อนำไปให้ผู้รู้ตรวจสอบ พบว่าเป็นบัตรของปลอมทั้งหมด จึงมีการขอเงินคืน แต่ได้กลับมาเพียง 5,000 บาทเท่านั้น และทราบว่าน่าจะมีการไปหลอกลวงคนในพื้นที่อื่นอีก จึงพยายามหาทางทวงเงินก่อนนี้ ที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงตลอดชีวิตคืน และกำลังประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์
สำหรับบัตรเขียวขอบแดง ของกลางที่ได้มีการเก็บไว้นั้น ด้านหน้าบัตรมีการระบุชื่อ ว่าที่ ร.ท.พงค์ กุลนรา เป็นปลัดฝ่ายทะเบียนและบัตร อ.แม่สาย ลงนามและมีตราประทับของที่ว่าการ อ.แม่สาย ปรากฏชัดเจน
ส่วนด้านหลังบัตรนั้น ระบุวันสำรวจเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2542 และเมื่อชุดเฉพาะกิจ มท.1 ตรวจสอบไปยังที่ว่าการ อ.แม่สาย พบว่าในปี 2546-2547 ไม่มีชื่อปลัดคนดังกล่าว มาทำหน้าที่ฝ่ายทะเบียนใน อ.แม่สาย และจากการตรวจสอบกลับไปที่ว่าการ อ.แม่สรวย พบว่าในปีเดียวกันมีชื่อ ว่าที่ ร.ท.พงค์ เป็นปลัดฝ่ายทะเบียนและบัตรจริง ขณะที่การตรวจสอบนางจันทร์ฉาย และนางต้อย ก็พบว่ามีตัวตน เคยรับราชการในพื้นที่
ด้าน นายอาณัติ วิทยานุกูล นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า การที่มีขบวนการมิจฉาชีพไปหลอกลวงชาวต่างด้าวเรื่องการให้สัญชาติ หรือทำบัตรต่างๆ นั้น ในอดีตอาจทำได้ และเคยมีข่าวว่ามักมีการไปหลอกลวงกัน และหากมีพยานหลักฐานก็สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้
แต่ปัจจุบันทางราชการมีการระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เข้ามาใช้แล้วทั่วประเทศ การปลอมแปลงเอกสารทางราชการทำได้ยาก ซึ่งก็มีการเข้มงวดอยู่แล้ว จึงขอเตือนให้ผู้ที่กำลังยื่นขอสัญชาติ และล่าสุดที่มีการให้สัญชาติไทย 500 ราย แก่ประชาชนในพื้นที่ ก็มีการตรวจสอบเข้มงวด