ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เผยหลังสร้างสะพานน้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วนเสร็จจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านลอจิสติกส์ครั้งใหญ่ของภาคอีสาน ตลาดสินค้าที่มีประชากรหลักร้อยล้านคนอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทั้งเวียดนาม-จีน คาดไม่เกินปี 53 สร้างแล้วเสร็จ ขณะที่นักธุรกิจสิงคโปร์รุกซื้อที่ดินร่วม 1,000 ไร่ เตรียมลงทุน Home stay และโรงพยาบาลหรูแล้ว
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 50 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 จ.นครพนม-แขวงคำม่วน บริเวณที่จะก่อสร้างสะพานคือ ที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนมตรงข้ามบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยกำหนดวงเงินงบประมาณราว 1,400 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างตัวสะพาน อาคารด่านตรวจคนเข้าเมือง และถนนจากตัวสะพานเพื่อเชื่อมกับถนนเส้นหลักทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว ซึ่งสะพานแห่งนี้ไม่มีรางรถไฟบนตัวสะพาน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการได้ภายในกลางปี 2551 และดำเนินการก่อสร้างได้ในปลายปี 2551 โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2553
นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยประจำ สปป.ลาว เปิดเผยถึงโครง การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม-แขวงคำม่วนดังกล่าวว่า มีความพิเศษต่างไปจากสะพานข้ามแม่น้ำโขง 1 และ 2 เพราะรัฐบาลไทยเป็นผู้สนับสนุนเงินงบประมาณในการก่อสร้าง 100% ขณะที่สะพานฯ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์เป็นการช่วยเหลือจากประเทศออสเตรเลีย สะพานฯ2 เป็นการให้กู้ยืมจากญี่ปุ่น
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว อนาคตอันใกล้นี้จะมีการก่อสร้างแน่นอนและการก่อสร้างจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน
“การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นี้เปรียบเหมือนกับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือนอกจากจะช่วยให้ความสัมพันธ์ไทยและลาวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยังเป็นสะพานที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยล้วนๆ ไม่มีงบสมทบจากประเทศอื่น เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทั้งประเทศ”นายวิบูลย์กล่าวและว่า
ภายหลังการก่อสร้างสะพานฯ แล้วเสร็จจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบวกมหาศาล ในเรื่องระบบลอจิสติกส์ของภาคอีสาน จากภูมิภาคที่มีความเสียเปรียบด้านการขนส่งสินค้าก็กลายเป็นภูมิภาคที่ได้เปรียบขึ้นมาทันที เพราะมีทางออกสู่ทะเลด้านอ่าวตังเกี๋ย ที่สั้น ระยะทางราว300 กิโลเมตรเท่านั้น เป็นการทะลุออกไปสู่ตลาดขนาดใหญ่ ที่มีประชากร 70-80 ล้านคนในเวียดนามและจีนตะวันตกเฉียงใต้ ไม่นับรวมกับตลาดลาวที่นับวันกำลังขยายตัว
ขณะเดียวกัน เส้นทางคมนาคมหลักที่ทอดผ่านสะพานฯ คือหมายเลข 8 ที่จะทะลุสู่ชายแดนเวียดนาม-เมืองวินห์ ก็จะเชื่อมโครงข่ายเข้ากับ เส้นทาง R3a จากจีนลงมาซึ่งการก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว โครงข่ายคมนาคมดังกล่าวจะเพิ่มมูลค่าการค้าการขนส่งให้แก่ทั้งไทยและสปป.ลาวเป็นอย่างมาก
“หากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 แล้วเสร็จเชื่อว่าตัวเลขการค้าการท่องเที่ยวด้านนี้จะขยายตัวอีกมาก ไม่ต่างจากผลบวกที่เกิดขึ้นกับสะพานแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ที่ตัวเลขการค้าล่าสุดของปี 2550 สูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทจากเดิมก่อนที่ยังไม่มีสะพานตัวเลขการค้าอยู่ที่ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น” นายวิบูลย์ กล่าว
ด้านนายประเสริฐ วงศ์มาลาสิทธิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงความคาดหวังภายหลังสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 แล้วเสร็จว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าในพื้นที่จังหวัดนครพนมขยายตัวมากขึ้น จะมีการลงทุนใหม่ๆทั้งจากนักธุรกิจท้องถิ่นและนักลงทุนต่างถิ่นเพื่อรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเส้นทางคมนาคมสายใหม่เส้นดังกล่าว เชื่อว่าระยะยาวคนนครพนมจะมีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
สำหรับความเคลื่อนไหวโครงการลงทุนใหม่ๆที่จะเตรียมลงทุนในพื้นที่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ได้เริ่มมีกลุ่มทุนต่างถิ่นเข้ามาดูลู่ทางเพื่อลงทุนบ้างแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้ คือกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ได้มาซื้อที่ดินประมาณ 1,000 ไร่บนเส้นทางท่าอุเทน-นครพนม ทางไปยังจุดก่อสร้างสะพาน ทั้งนี้กลุ่มทุนดังกล่าวจะร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นเจ้าของกิจการท่าทราย ซีเอ วัสดุก่อสร้าง โดยจะลงทุนในโครงการ Home stay และโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจรายใหญ่ด้านบริการจากจังหวัดภูเก็ตเข้ามาซื้อที่ดินไว้แล้วราว 500 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นที่พักธรรมชาติแบบ Home stay เช่นกัน
นายประเสริฐระบุว่า เหตุที่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบ Home stay ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นพิเศษ เพราะสภาพอากาศของจังหวัดนครพนมเย็นสบายตลอดทั้งปี ทัศนียภาพริมแม่น้ำโขงสวยงาม เหมาะต่อการพักผ่อน
“นครพนมมีทำเลที่ตั้งไม่ต่างจากก้นซอย ที่ผ่านมาถือเป็นพื้นที่ปิดหรือแลนด์ล็อกแต่หลังจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 เปิดใช้แล้วจังหวัดชายแดนแห่งนี้จะกลายเป็นแลนด์ลิงก์ที่สามารถเดินทางทะลุก้นซอยออกสู่ทะเลเวียดนามได้ภายในเวลาสั้นๆ การค้าการท่องเที่ยวจะเฟื่องฟูทันที”ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม กล่าว