สกลนคร - ชาวบ้านพบค้างคาวประหลาด ลักษณะคล้ายผีเสื้อ เผยหากพิสุจน์เป็นค้างคาวหายากในเมืองไทยเตรียมส่งให้หน่วยงานรัฐนำไปศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่วงการศึกษา
นายประวีณวัช อุปพงษ์ อายุ 48 ปี ราษฎรชุมชนนาอ้อย เขตเทศบาลเมืองสกลนคร ซึ่งเปิดบริษัทรักษาความปลอดภัย ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้เดินทางเข้าพบผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งนำสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นค้างคาวที่ยังมีชีวิตมาให้ตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นค้างคาวชนิดใด เนื่องจากตนไม่เคยเห็นมาก่อน
นายประวีณวัชพบค้างคาวตัวนี้ที่ริมถนนในเขตตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ขณะขับรถผ่านและจอดรถลงไปแวะเพื่อปัสสาวะ พบว่าที่ต้นไม้มีสัตว์ปีกสีส้มเกาะอยู่ ครั้งแรกนึกว่าผีเสื้อจึงจับดูและพบว่าไม่ใช่ผีเสื้อ เพราะมีหน้าคล้ายหนู จึงคิดว่าต้องเป็นค้างคาวอย่างแน่นอน จับดูพบว่ามีน้ำหนักเบา ตนจึงได้จับเอามามอบให้ผู้สื่อข่าวพิสูจน์ว่าเป็นค้างคาวชนิดใด หากเป็นชนิดที่หายากก็จะได้มอบให้กับทางราชการไปทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไป
สำหรับค้างคาวดังกล่าว มีน้ำหนักประมาณ 2 ขีด(200กรัม) ลำตัวเท่าหัวแม่มือ เมื่อกางปีกออกยาวประมาณ 8-9 นิ้ว ลำตัวมีสีดำและสีส้ม ส่วนปีกมีสีดำสลับสีส้มเช่นกัน ขณะนี้ค้างคาวยังมีชีวิตอยู่
อย่างไรก็ตาม นายอดุลย์ อัคฮาดศรี เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้มาพิสูจน์ค้างคาวดังกล่าว บอกว่า จากการที่ตนได้ศึกษาตำรามา พบว่าค้างคาวชนิดนี้หาได้ยากมาก และใกล้จะสูญพันธุ์ บริเวณที่พบน่าจะมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนชื่อคือค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ ค้างคาวสี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kerivoula picta เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ pict แปลว่าระบายสี ความหมายก็คือ มีสีสันหลายสีในตัวเดียวกันเป็นชนิดที่พบครั้งแรกในเกาะโมลักกุ ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ 2 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิด
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอดหรือท่อ และจะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออกไม่ม้วนเป็นหลอดแล้ว นอกจากนี้ยังพบเกาะตามใบแห้งของต้นไม้ ยอดหญ้าพง และยอดอ้อ และยอดอ้อย รวมทั้งมีรายงานเกาะตามรังของนกกระจาบธรรมดาตัวผู้ ซึ่งเป็นรูปหยดน้ำแขวนตามกิ่งก้านของต้นไม้ อยู่เป็นคู่หรือโดดเดี่ยว ออกหากินในช่วงเย็น โดยบินต่ำระดับยอดไม้พุ่ม ลักษณะการบินคล้ายผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ แต่บินเร็วกว่ามาก อาหารได้แก่แมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงที่มีขนาดเล็ก
มีรายงานการพบค้างคาวชนิดนี้ จะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายน ค้างคาวตัวผู้และตัวเมียรวมทั้งลูกอ่อนที่เกาะติดอกแม่ถูกจับได้พร้อมกันบนใบตองแห้งในเดือนสิงหาคม การกระจายพันธุ์ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ กระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม ไทย มาเลเชีย และอินโดนีเซียสถานภาพ พบไม่บ่อย และปริมาณไม่มากนัก แต่พบทุกภาค จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้นควรจะนำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป