ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ปภ.เขต 5 โคราชเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน 89 จุด 6 จังหวัดอีสานใต้ ส่ง จนท.-อุปกรณ์เครื่องจักร ลงพื้นเตรียมพร้อมในทุกจุดและอพยพปชช.ทันทีที่เกิดพิบัติภัย ล่าสุดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ขึ้นเพื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. ด้าน ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 5 เตือนบุรีรัมย์-โคราช อย่านิ่งนอนใจภูเขาไฟเก่าอาจปะทุเหตุความเปลี่ยนทางธรรมชาติ ย้ำต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ให้ติดตามความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 (ปภ.เขต 5) นครราชสีมา ถ.สุรนารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมเตรียมการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการจราจรและวัตถุอันตรายจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2551 และการเตรียมการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ โดยมีตัวแทนภาครัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้องใน จ.นครราชสีมา เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ประกอบกับช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทุกภาคมีฝนเพิ่มมากขึ้น บางพื้นที่มีฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และภัยธรรมชาติอื่นๆ ไว้พร้อมแล้ว
โดยได้ทำการอบรมเจ้าหน้าที่และให้ความรู้แก่ “มิสเตอร์เตือนภัย” ไปครบทุกหมู่บ้าน ขณะนี้เดียวกันได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกัน ล่าสุดศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมาได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มขึ้นที่ศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) ทั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมเรือท้องแบน เครื่องจักรกล, เครื่องมือ, วัสดุ, อุปกรณ์ และบุคลากรไว้พร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดในเขตรับผิดชอบทันทีที่มีการร้องขอ โดยได้ประสานให้สำนักงาน ปภ.จังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และ จ.สระบุรี จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัดและอำเภอขึ้นด้วย เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 6 จังหวัดอีสานตอนล่างนี้ มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจำนวน 89 จุด รวม 17 อำเภอ 38 ตำบล 89 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา 6 อำเภอ (อ.วังน้ำเขียว, ครบุรี, ด่านขุนทด, ปากช่อง, สีคิ้ว, เสิงสาง) 16 ตำบล 44 หมู่บ้าน, จ.ชัยภูมิ 9 อำเภอ (อ.เทพสถิต, ภักดีชุมพล, เกษตรสมบูรณ์, หนองบัวแดง, หนองบัวระเหว, อ.เมือง, บ้านเขว้า, จัตุรัส, คอนสาร) 18 ตำบล 38 หมู่บ้าน และ จ.ศรีสะเกษ 2 อำเภอ (อ.ภูสิงห์, ขุนหาญ) 4 ตำบล 7 หมู่บ้าน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงเครื่องมืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้สำหรับการอพยพประชาชนออกมาหากเกิดภัยพิบัติดังกล่าว
“พิบัติภัยทางธรรมชาติเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปจำนวนมหาศาล เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ฉะนั้นประชาชนจึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ติดภูเขา, ที่ราบลุ่มติดกับน้ำ ลำคลองที่เคยมีประวัติน้ำท่วม ต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลาและให้ติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้” นายวัลลภ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภูมิประเทศของภาคอีสานจะไม่มีรอยเลื่อนที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเหมือนทางภาคเหนือของประเทศก็ตาม แต่สิ่งที่อยากจะฝากเตือนไว้ คือ ในพื้นที่อีสาน โดยเฉพาะ จ.บุรีรัมย์ และนครราชสีมา จากการศึกษาพบว่าเป็นแหล่งของภูเขาไฟในอดีต ซึ่งหากธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงไปมากอาจจะทำให้ภูเขาไฟเดิมที่มีอยู่แล้วปะทุขึ้นมาได้ ฉะนั้นอย่าตั้งอยู่ในความประมาท และให้คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะในต่างประเทศเคยมีข่าวภูเขาไฟเกิดระเบิดขึ้นมาอีกครั้งแม้จะดับไปเป็นเวลานานกว่า 1,000 ปีก่อนก็ตาม ซึ่งในภาคอีสานเราไม่ทราบว่าภูเขาไฟดังกล่าวมีอายุกี่ปีมาแล้ว