ศูนย์ข่าวศรีราชา - ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อยอดชำระหนี้เงินกู้ของเกษตรกร ในจังหวัดชลบุรี โดย ธ.ก.ส.7 สาขาทั่วจังหวัดปี 2550 มีมากเกือบ 100% ของยอดปล่อยกู้ 2.38 พันล้านบาท หรือประมาณ 2.28 พันล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตร3 เดือนแรกปี 2551 มีมากถึง 500 ล้านบาท
นายชูชีพ วิถี ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จังหวัดชลบุรี เผยว่า ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงมาตั้งแต่ปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ในจังหวัดชลบุรี มีความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้มากขึ้น
ในปี 2550 ธ.ก.ส.ชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 7 สาขาทั่วจังหวัด มียอดปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 2.383 พันล้านบาท และมียอดชำระหนี้เงินกู้ของกลุ่มเกษตรกรสูงถึง 97% หรือประมาณ 2.288 พันล้านบาท ขณะที่ในปี 2551 ธ.ก.ส.ชลบุรี ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและโครงการ 108 อาชีพอีกกว่า 2 พันล้านบาท
“ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 ธ.ก.ส.ชลบุรี มียอดปล่อยกู้แล้วประมาณ 500 ล้านบาท และเกือบทั้งหมดเป็นการขอกู้เพิ่มของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เพื่อจัดซื้อพันธุ์พืชที่มีคุณภาพสำหรับเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนการขยายพื้นที่ปลูก หลังข้อมูลของเกษตรจังหวัดชลบุรี พบว่าพื้นที่ทางการเกษตรของจังหวัดชลบุรีลดจาก 60% ของพื้นที่ทั้งหมดเหลือเพียง 40% จากการขยายตัวของภาค อุตสาหกรรม” นายชูชีพกล่าว
สำหรับแนวโน้มการปล่อยกู้ในปี 2551-2553 ของ ธ.ก.ส.ชลบุรี คาดว่าจะเติบโตมากขึ้นจากความต้องการพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นตาม และเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้เงินกู้สำหรับพัฒนาระบบการปลูกให้มีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีมากถึง 2 แสนไร่ในภาคตะวันออก เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของการขยายวงเงินกู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก โดย ธ.ก.ส.ชลบุรี มีพื้นที่เป้าหมายในส่วนการปล่อยกู้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีพื้นที่ปลูกในจังหวัดประมาณ 1.5 หมื่นไร่เช่นกัน
นายชูชีพ ยังกล่าวอีกว่าภาคประมงพื้นบ้านของจังหวัดชลบุรี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ ธ.ก.ส.ชลบุรีจัดโครงการปล่อยกู้แต่มีอัตราการขอกู้เพียง 2% ของยอดปล่อยกู้เท่านั้น เนื่องจากเป็นการประมงขนาดย่อมแต่ที่มีศักยภาพในการชำระคืนสูง เนื่องจากกลุ่มประมงส่วนใหญ่จะนำสัตว์ทะเลที่ได้มาแปรรูปเป็นอาหารทะเลแห้ง เพื่อจำหน่ายในตลาดหนองมนที่มีกลุ่มลูกค้าจากทั่วประเทศ