xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯตั้งคณะทำงานศึกษาหนุนตั้ง “ธนาคารดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - แนวคิดการจัดตั้งธนาคารบำรุงดิน (แผ่นดินแม่) ของ 4 สมาคมมันฯ เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของสภาพดินกับการปลูกพืชผลแต่ละชนิด ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และคุ้มค่าต่อการลงทุน รับการเป็นครัวโลกของไทยมีสิทธิ์เป็นจริง หลัง ก.เกษตรฯโดดร่วมวงจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและคณะทำงานชุดใหญ่ที่มี รมต.เป็นประธาน พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้ สนง.เกษตรทุกจังหวัดเร่งวิเคราะห์สภาพดิน คาดเร็วๆ นี้อาจเห็นการเปิดตัวอย่างเป็นรูปธรรม


นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งธนาคารบำรุงดิน (แผ่นดินแม่) ว่าขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะส่งเสริมให้ทุกจังหวัดมีการจัดตั้งธนาคารบำรุงดิน และให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ออกสำรวจความเหมาะสมของสภาพดินกับการปลูกพืชผลทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลิตผลสำหรับรองรับการเป็นครัวโลกของไทย หลังพบทิศทางราคาสินค้าเกษตร ที่เริ่มจากข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าทางการเกษตรในหลายประเทศทั่วโลก

เดิม 4 สมาคมมันสำปะหลัง ที่ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย มีแนวคิดที่จะจัดตั้งธนาคารบำรุงดินใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ภายใต้งบดำเนินการของกลุ่มเพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตหัวมันสดต่อไร่ให้มากขึ้นโดยไม่มีการขยายพื้นที่ปลูก และยังมีแผนที่จะนำหลักวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเพิ่มผลผลิตและนำพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความแข็งแรงและคงทนเข้ามาปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตหัวมันสดต่อไร่ให้ได้อีก 8 ตันและคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถผลิตหัวมันสดป้อนตลาดได้มากถึง 40-50 ล้านตันต่อปี

“แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าพบ รมว.สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้เสนอแนวคิดดังกล่าวให้ฟัง ปรากฏว่าท่านเห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลน้ำและดินเป็นหลัก หลังจากนั้นค่อยมาดูในเรื่องปุ๋ย ซึ่งในขั้นแรกได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาและตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ที่มี รมต.เป็นประธานเพื่อเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังกำหนดให้มีการจัดตั้งในทุกจังหวัดเพื่อรองรับความต้องการอาหารจากทั่วโลก ที่มองกันว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นครัวอาหารที่สำคัญของโลก”

นายนิยม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนพยายามผลักดันให้หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญของการที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก หลังข้อมูลต่างๆ ระบุว่าในอนาคตทั่วโลกจะขาดแคลนอาหารและพยายามสนับสนุนให้นักวิชาการที่วิเคราะห์ถึงการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้เผยแพร่ผลงานศึกษาของตนต่อกลุ่มเกษตรกรเพื่อผลประโยชน์อย่างยั่งยืน และสิ่งที่น่ายินดีก็คือในส่วนของกระทรวงพลังงาน ก็สนับสนุนกับแนวคิดดังกล่าวเพื่อหนุนให้ไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และคาดว่าเร็วๆ นี้จะเห็นธนาคารบำรุงดินในหลายพื้นที่

หัวมันสดพุ่ง 210 เหรียญสหรัฐต่อ FOB

นายนิยม เผยถึงปัจจัยที่ทำให้หลายหน่วยงาน หันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาคุณภาพดินในพื้นที่เกษตรกรรมว่า เป็นเพราะทิศทางราคาสินค้าการเกษตรที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากราคาหัวมันสดในตลาดโลกที่พุ่งไม่หยุด หลังหลายประเทศต้องประสบวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ จนไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้

ปัจจุบันราคาหัวมันสดพุ่งจาก 100 เหรียญสหรัฐต่อ FOB เป็น 200-210 เหรียญสหรัฐต่อ FOB ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาคการผลิตได้รับผลดีกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับราคาข้าวที่พุ่งไม่หยุดจากความต้องการจากทั่วโลก ซึ่งหากไทยไม่เร่งพัฒนาตนให้กลายเป็นผู้ผลิตทั้งพลังงานทดแทน และแหล่งอาหารให้ทันต่อความต้องการก็จะประสบชะตากรรมไม่ต่าง จากประเทศอื่นๆ ทั้งที่ไทยมีข้อได้เปรียบมากกว่าในหลายๆ ด้าน

“หากแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนาสินค้าเกษตรของตน ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่มีราคาขายสูงสุดถึง 3 พันบาทต่อลูกต่อให้ใครเอาพันธุ์ไปปลูกก็ไม่เหมือนกับที่ปลูกในเมืองนนท์เพราะสภาพดินมันเอื้ออำนวย เช่นเดียวกับมะม่วง ก็ต้องอยู่แถวเขาชะโงก จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งหากทุกพื้นที่พัฒนาสินค้าเกษตรของตนให้ดีและเหมาะสมกับสภาพดินแล้วอนาคตเกษตรกรก็จะสบายขึ้น ผมเองรวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ไม่กลัวว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วโครงการนี้จะตกไป เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราก็จะผลักดันต่อ เพราะมันถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลดินและน้ำ” นายนิยม กล่าว

อนึ่ง แนวคิดในการจัดตั้งธนาคารบำรุงดิน เกิดจากการประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยที่จัดโดย 4 สมาคมมันฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อปลายปี 2550 โดยจุดประสงค์สำคัญของธนาคารแห่งนี้เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และวิจัยดินในพื้นที่ต่างๆ ว่าเหมาะสมต่อการปลูกพืชชนิดใด ขาดแร่ธาตุใดที่จำเป็นต้องเสริมเพื่อให้ดินมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยสมาคมฯจะใช้งบก้อนใหญ่จัดตั้งและเมื่อเปิดตัวอย่างเป็นรูปธรรมจะกำหนดชื่อที่ใช้เป็นทางการอีกครั้งโดยในครั้งแรกคาดกันว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นจริง แต่เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพลังงาน สนับสนุนก็คาดว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น