xs
xsm
sm
md
lg

ปลาส้ม “ศรีทน” พะเยา ซื้อเครื่องจักรรอรัฐดันโกอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา – “ศรีทน” ปลาส้มพะเยา แบรนด์ท้องถิ่น ลงทุนเพิ่มสร้างโรงงาน-ซื้อเครื่องจักร หวังเพิ่มกำลังการผลิตพร้อมขอรัฐหนุนส่งออก ฝืนไม่ขึ้นราคาแม้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ปลากว๊านพะเยาเริ่มหมด-ต้องสั่งซื้อจากภาคกลางแทน

นายศรีทน อะริยา ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ผู้ผลิตปลาส้ม จังหวัดพะเยา ภายใต้แบรนด์ “ศรีทน” เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดปลาส้มในปัจจุบันว่ายังเปิดกว้างอยู่โดยมียอดออเดอร์ตลอดทั้งปี จนทำให้ขณะนี้ต้องลงทุนเพิ่มทั้งในส่วนของการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งเตรียมสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 1 หลังเพื่อติดตั้งเครื่องจักรและคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ประมาณปี 2552

ส่วนกำลังการผลิตนั้นในแต่ละเดือนจะผลิตปลาส้มให้ลูกค้าประมาณ 7,000-8,000 กิโลกรัม ทั้งปลาบด ปลาก้อน และปลาเป็นตัวโดยจะส่งจำหน่ายยัง 8 จังหวัดภาคเหนือ

“ทุกวันนี้ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อเร่งส่งให้ลูกค้า โดยช่วงนี้ของทุกปีจะมีออเดอร์มากเป็นพิเศษ แต่หากเฉลี่ยกันไปก็ถือว่ามีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งรายได้ที่เข้ามาก็พออยู่ได้ไม่ถึงกับมากเท่าไหร่ แต่เน้นที่ทุกคนมีรายได้พอเลี้ยงตนเองก็พอ” นายศรีทนกล่าว

นายศรีทน กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มในอนาคต เมื่อโรงงานที่กำลังอยู่ในระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มจะติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ช่วยสนับสนุนเป็นตัวกลาง หรือช่วยแนะนำในการทำตลาดต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยได้เข้ามาให้คำปรึกษา ในการทำตลาดในต่างประเทศบ้างแล้วเพียงแต่อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลในรายละเอียด รวมทั้งต้องรอเรื่องกำลังการผลิตว่าจะสามารถผลิตเต็มกำลังได้ที่เท่าไหร่จึงจะสามารถประมาณการกำลังการผลิตได้ คาดว่าจะมีความพร้อมเต็มที่ไม่เกินปี 2552

การส่งไปขายต่างประเทศมีต้นทุนสูง ทั้งภาษี บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่ง ซึ่งด้วยศักยภาพของกลุ่มตนเองต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าหากมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นปลาส้มพะเยาไปจำหน่ายยังต่างประเทศแน่นอน” นายศรีทน กล่าว

นายศรีทน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปลาที่นำมาทำปลาส้มปัจจุบันสั่งซื้อปลามาจากจังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี เนื่องจากปลาในกว๊านพะเยามีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะสั่งมาเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,000-2,000 กิโลกรัม ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท ขึ้นเป็น 25 บาท ขณะที่ปลาแล่เนื้อแล้วราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 47 บาท แต่ราคาจำหน่ายปลาส้มยังเท่าเดิมทำให้กลุ่มต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถประคองตัวอยู่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อีกหลายรายต้องประสบปัญหาขาดทุนปิดกิจการไปหลายแห่งแล้ว

อนึ่ง ปลาส้ม ภายใต้แบรนด์ “ศรีทน” เริ่มทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจังใน พ.ศ.2544 โดยภาครัฐบาลได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงรวมกลุ่มกันประมาณ 30 คน จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ผู้ผลิตปลาส้ม ภายใต้แบรนด์ “ศรีทน” ขึ้นมา เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และทำให้ปลาส้มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้นโดยได้ลงทุนเป็นเงินประมาณ 700,000 บาท สร้างอาคารผลิตปลาส้มขึ้นมาบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โดยตัวอาคารมีมุ้งลวดรอบด้าน ซึ่งกระบวนการผลิตปลาส้ม ตั้งแต่แยกเนื้อปลา บดปลา และบรรจุภัณฑ์ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา รวมทั้งได้รับการรับรองเป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาว ประเภทปลาส้มเป็นรายแรกของจังหวัดพะเยา


กำลังโหลดความคิดเห็น