จันทบุรี - จังหวัดจันทบุรีมั่นใจปีนี้ผลผลิตได้คุณภาพมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ขอความร่วมมือเกษตรกรให้รักษาคุณภาพ หลังผลไม้จากจังหวัดจันทบุรีเริ่มทยอยออกสู่ตลาด พร้อมตั้งวอร์รูมดูแลผลไม้เป็นพิเศษ
นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดจันทบุรีได้ประเมินสถานการณ์ผลไม้ที่สำคัญของจังหวัดมาเป็นระยะ ตั้งแต่เริ่มออกดอก ล่าสุด วันนี้ (23 เม.ย.) คาดว่า ในปีฤดูการผลิต 2551 จังหวัดจันทบุรีจะมีปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดรวมประมาณ 553,000 ตัน ประกอบด้วย ทุเรียน 243,808 ตัน แยกเป็นทุเรียนพันธุ์ หมอนทอง 188,286 ตัน ทุเรียนพันธุ์ชะนี 39,080 ตัน ทุเรียนพันธุ์กระดุม 10,543 ตัน และทุเรียนพันธุ์อื่นๆ 5,899 ตัน เงาะ 178,987 ตัน และมังคุด 77,700 ตัน ส่วนลองกองจะมีประมาณ 52,500 ตัน
ปัจจุบันมีผลผลิตกระจายออกสู่ตลาดไปแล้ว กว่า 40,000 ตัน เป็นทุเรียนประมาณร้อยละ 10.15 24,753 ตัน มังคุดประมาณร้อยละ 7 หรือ 4,000 กว่าตัน จากปริมาณผลผลิตที่คาดการณ์ไว้ดังกล่าวจังหวัดได้วางมาตรการ เพื่อรองรับและพร้อมรับมือกับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดไว้อย่างเป็นขั้นตอน
ทั้งนี้ จะเข้มงวดกวดขันเรื่องคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนอ่อน หากตรวจสอบพบจะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะเร่งระบายผลผลิตไปสู่ตลาดปลายทางที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อกระจายไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศที่ต้องการผลไม้คุณภาพ มีสหกรณ์การเกษตรของจังหวัด จำนวน 10 สหกรณ์ เป็นผู้รวบรวมจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปจัดส่ง โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา
อีกทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระจายผลไม้ของจังหวัด ที่ตลาดค้าส่งผลไม้ปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 แห่ง เป็น 8 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาด โดยจัดตั้งที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธาน อุบลราชธานี มุกดาหาร นครสวรรค์ พิษณุโลก และจังหวัดราชบุรี รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าตลอดฤดูกาล และรณรงค์การบริโภคผลไม้ที่จังหวัดปลายทางสำคัญ เช่น ตลาดจตุจักร ตลาด อ.ต.ก.กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นายมานพ วีระอาชากุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ของจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเจรจากับจังหวัดพระตะบองและกรุงไพลินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอให้อำนวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้ของจังหวัดไปสู่ตลาดประเทศกัมพูชาและเวียดนามให้รวดเร็วขึ้น
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศ อีกทั้งได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อำนวยความสะดวกแก่รถบรรทุกผลไม้ที่มาบรรทุกผลไม้ของจังหวัด ในส่วนองค์กรพันธมิตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีแจ้งว่าได้เตรียมงบประมาณ เพื่อรองรับสถานการณ์ผลไม้ของจังหวัดไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะเข้ามารับซื้อผลไม้ และส่งไปจำหน่ายยังตลาดปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ของจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเวลา และตอบสนองต่อสถานการณ์ จังหวัดจึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ของจังหวัดขึ้น War Room ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ผลไม้อย่างใกล้ชิด หากมีสิ่งบอกเหตุที่จะส่งผลให้ระดับราคาผลไม้ตกต่ำ จังหวัดจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และหากจำเป็นจะเข้ารับซื้อเพื่อแทรกแซงราคานำตลาดตลาดก็มีเงินพร้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจัดตั้งอยู่ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี