xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “จตุคามฯ” รุ่น “Post Fever” จาก “มึงมีกูไว้ไม่จน” ถึง “ขายไม่ได้กูขนไปเททิ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

ยุคสมัยนี้คงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักจตุคามรามเทพ และในส่วนของชาวไทยพุทธคงมีน้อยคนที่ไม่มีจตุคามรามเทพในครอบครอง จากคำถามที่ว่า “คุณมีจตุคามรามเทพหรือไม่” สมัยนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น “คุณมีจตุคามรามเทพกี่องค์ รุ่นไหนบ้าง?”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเคยรุ่งเรื่องอย่างสุดขีดในช่วงเวลาหนึ่ง การณ์ก็เป็นไปตามที่หลายคนเคยคาดไว้ นั่นคือ ขาลงของจตุคามรามเทพ และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ได้มีนายทุนผู้ล้มเหลวอัญเชิญจตุคามรามเทพรุ่นเทวะราชา และรุ่นปาฏิหาริย์ จำนวนร่วมแสนองค์ไปทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ริมถนนสายวัดโบสถ์ ท้องที่หมู่ 1 ต.ปากนคร อ.เมืองนครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่า ทั้งสองรุ่นจัดสร้างโดยวัดบางสะพาน ต.บางจาก อ.เมืองนครศรีธรรมราช

ผู้สื่อข่าวยังพบอีกว่า ในการจัดสร้างจตุคามฯ ทั้ง 2 รุ่น กลุ่มผู้สร้างมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณะเสนาสนะวัดต่างๆ รวม 9 วัด ซึ่งทั้งหมดที่ถูกนำมาทิ้งก่อนหน้านี้มีการเปิดให้จองขนาด 5 ซ.ม. องค์ละ 150 บาท และขนาด 3.5 ซม.องค์ละ 59 บาท มูลค่ารวมในขณะเปิดจองไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท และหากอยู่ในช่วงที่กระแสจตุคามรามเทพ ฟีเวอร์ สุดๆ วัตถุมงคลที่นำมาทิ้งทั้งหมดจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาททีเดียว

ภายหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวได้มี นายเยื้อง แสงแก้ว นายอภิโชติ วัฒนประเสริฐกุล นายสมชาย เชตุวัน นายสมพงศ์ สุขชนะ นายสันติ แซ่หลี ร่วมตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เคารพนับถือศรัทธา ต่อองค์จตุคามรามเทพ และคร่ำหวอดอยู่ในวงการวัตถุมงคลมานับ 10 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีกระแสความนิยม

จนกระทั่งถึงยุคฟีเวอร์ มีนายทุนทั้งในและต่างจังหวัดแห่จัดสร้างในนามวัดต่างๆ อย่างคึกคักกว้างขวาง พวกเขามองว่านายทุนที่เข้ามาทำนั้นส่วนใหญ่กระบวนการขั้นตอนการจัดสร้างเป็นไปแบบลวกๆ สุกเอาเผากิน บ้างก็ไม่ผ่านพิธีกรรมพุทธา-เทวาภิเษก ตามขั้นตอน เป็นการฉวยโอกาสหลอกลวงต้มตุ๋นประชาชน

“ที่ผ่านมา ทางกลุ่มลูกหลานองค์พ่อจตุคามรามเทพ ได้ออกมาต่อต้านการจัดสร้างที่ไร้คุณภาพ แต่ไม่สามารถต้านทานกระแสความนิยมสูงสุดในขณะนั้นได้ ส่งผลให้มีนายทุนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจจัดสร้างจตุคามรามเทพ อย่างกว้างขวาง หวังเพียงผลประโยชน์จากผลกำไรเพียงอย่างเดียว”

กลุ่มลูกศิษย์องค์พ่อจตุคามรามเทพ ฟันธงโชะว่า จตุคามฯ ทั้ง 2 รุ่นที่ถูกนำมาเททิ้งเป็นผลจากนายทุนที่ร่วมกันสร้างเกิดการขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์กันเอง จนนำมาสู่การนำวัตถุมงคลจตุคามฯ ไปเททิ้งข้างถนน ดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2551 ก็เกิดปรากฏการณ์เดียวกันขึ้นอีก โดยมีนายทุนอัญเชิญวัตถุมงคลจตุคาม-รามเทพ ไม่ทราบชื่อรุ่น ไม่ทราบชื่อคณะผู้จัดสร้าง มีจำนวนร่วมหมื่นองค์ไปเททิ้งไว้ใต้สะพานป่าสาคู ถนนสายนครศรีธรรมราช –นาพรุ ท้องที่ ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช

เป็นอีกครั้งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงด้านความนิยมในวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ จากยุคฟูเฟื่อง มาเป็นลอยฟ่อง และจมลงไปตั้งนิ่งอยู่บนก้นคลอง โชคร้ายที่องค์พ่อไม่แสดงอภินิหาริย์ลอยทวนน้ำ ไม่เช่นนั้นจตุคามฯ รุ่นนี้จะมีราคาเหยียบแสนเป็นที่แน่นอน

ในวันที่ไม่มีพระอาทิตย์ทรงกลด ปรากฏการณ์ขาลงของวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในฐานะเป็นวัตถุมงคลในพิธีตั้งศาลหลักเมือง วางดวงเมืองนครศรีธรรมราชใหม่

จนกระทั่งมาโด่งดังสุดขีดในช่วงปี 2548 -2549 พร้อมๆ กับคำพูด มีการทำพิธีปลุกเสกภายในวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดือนละไม่ต่ำกว่า 300 รุ่น เงินเดินสะพัดใน จ.นครศรีธรรมราช ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆ หันมาเปิดแผงพระให้เช่าจตุคามรามเทพกันอย่างคึกคัก

จตุคามรามเทพ เป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วประเทศ บางรุ่นถึงขั้นแย่งชิงกันจนเหยียบกันตายก็มี ส่วนราคาเช่านั้นมีตั้งแต่ 19 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น ส่วนรุ่นปี 2530 ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกราคาแลกเปลี่ยนสูงถึงหลักล้านบาท

เหล่าบรรดานายทุนหัวใสที่หวังกอบโกยผลกำไรต่างทุ่มทุนเข้ามาเป็นเจ้าพิธีปลุกเสก โดยร่วมมือกับวัดวาต่างๆ ทั้งใน จ.นครศรีธรรมราช และวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักของคณะผู้สร้างก็คือนำเงินรายได้ไปสร้างเสนาสนะให้กับวัด ไม่ได้มีการพูดถึงผลกำไร ช่วงกระแสขาขึ้นของจตุคามฯ นายทุนหลายคนกลายเป็นเจ้าสัว คนที่มีหนี้สินก็ถึงคราวได้ล้างชำระหนี้ที่ติดค้างมานาน พระเกจิชื่อดังบางคนร่ำรวยจากส่วนแบ่งถึงกับต้องสึกสาลาสมณเพศออกมาเสพสุขในทางโลกอย่างอิ่มหนำ

แล้วก็เป็นไปตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนตั้งอยู่บนหลักอนิจจัง ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้อย่างถาวร ต้นปี 2550 เป็นต้นมากระแสความนิยมของจตุคามรามเทพก็ค่อยๆ ลดระดับลงจนกลายเป็นเงียบหายไปในที่สุด เพิ่งจะมาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งก็เมื่อนายทุนผู้ล้มเหลวจากการค้าความศรัทธา อัญเชิญองค์พ่อมาประดิษฐานในคลองและกองขยะข้างทาง ท่ามกลางการสาปแช่งของประชาชนผู้ศรัทธาในองค์จตุคามรามเทพ

อย่างไรก็ตาม เจ้าของแผงให้เช่าวัตถุมงคลหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ยืนยันว่า แม้ว่าปัจจุบันในกลุ่มชาวไทยจะให้ความนิยมในจตุคามรามเทพลดน้อยลง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังคงนิยมเช่าบูชาวัตถุมงคลจตุคามรามเทพอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมาแต่กระแสก็ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว

“ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เขาเดินทางมาเที่ยวหรือมาบวชที่วัดพระธาตุ ยังนิยมเช่าบูชาจตุคามรามเทพ แต่อาจจะไม่คึกคักเหมือนปีสองปีก่อนหน้านี้ ในขณะที่แผงให้เช่าพระก็มีจำนวนลดลงกว่าช่วงที่จตุคามฯ กำลังดัง ยังคงมีเพียงผู้ที่ยึดอาชีพนี้จริงๆ ที่ยังคงเปิดให้บริการเช่าพระอยู่” แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าว

ปรากฏการณ์ที่มีนายทุนขนจตุคามรามเทพรุ่นหลังฟีเวอร์ ไปทิ้งกองขยะริมถนน และลำคลอง ในเขต อ.เมืองนครศรีธรรมราช แม้วัตถุมงคลเหล่านั้นจะผ่านหรือไม่ผ่านพิธีปลุกเสกก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสันดานของนายทุนบางกลุ่มที่คำนึงถึงแต่ผลกำไร เมื่อไม่สามารถนำจตุคามรามเทพไปทำกำไรได้ต่อไป ก็ขนเอามาเททิ้งเสียง่ายๆ เป็นที่สลดใจแก่ผู้ศรัทธาไม่น้อย

หลังจากนี้ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบไปยังวัดวาต่างๆ ที่กลุ่มนายทุนถือโอกาสช่วงจตุคามฯ ขาขึ้นเข้าไปหว่านล้อมทางวัดจนคล้อยตามเข้าร่วมจัดสร้างจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ เพื่อหวังจะได้ปัจจัยมาพัฒนาวัด แต่มีหลายแห่งที่การจัดสร้างเสนาสนะให้กับวัดเป็นไปอย่างไม่ได้มาตรฐาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าทำแบบขอไปที เพราะวัตถุประสงค์จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ หรือศาลาการเปรียญ หากแต่อยู่ที่ “เงิน”

จากการที่นายทุนผู้ล้มเหลวประกาศปกาศิต “กูขายไม่ได้ กูขนไปเททิ้ง” ทั้งๆ ที่น้ำทะเลยังไม่ทันเหือดแห้ง หากเขาเก็บจตุคามฯ ไว้ต่อไปอาจจะนำมาให้เช่าบูชาได้อีกในวันหนึ่ง ดังที่องค์พ่อเคยประกาศปกาศิตไว้ว่า “ตราบใดที่น้ำทะเลยังไม่เหือดแห้ง มึงมีกูไว้ไม่จน” นี่น้ำยังเต็มทะเล แต่ก็ดันมีคนมาเนรคุณเสียแล้ว

ต่อจากนี้อาจจะมีข่าวออกมาอีกว่าโบสถ์ หรือศาลาการเปรียญของวัดนั้นวัดนี้ต้องพังชำรุดลงเพราะสร้างอย่างไม่ได้มาตรฐานในยุคจตุคามฯ เฟื่องฟู เรื่องนี้ใครไม่เชื่อก็อย่าเพิ่งลบหลู่ แต่คอยดูก็แล้วกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น