เลย - เกษตรกรจังหวัดเลยหาทางออกแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ร่วมโครงการทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เผยมีชุมชนเกษตรพอเพียงนำร่องกว่า 23 ชุมชนเข้าร่วม ประหยัดเงินนำเข้าปุ๋ยเคมีได้มากกว่า 10 ล้านบาท ด้านเกษตรกรเผยลดต้นทุนการเพาะปลูก ทั้งให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี
นายสามารถ เผ่าภูไทย ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเลย เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเลย (ธ.ก.ส.) ได้จัดสอนเกษตรกรให้ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมหัวเชื้อทำปุ๋ยการเตรียมวัสดุทำปุ๋ยให้มีคุณภาพดี โดยเริ่มในชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2550 ทั้งจังหวัดนำร่อง 23 ชุมชน ส่งผลให้ชุมชนลดค่าใช้จ่ายการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้เป็นมูลค่า 10 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพในฤดูแล้ง ทั้งการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังเสร็จสิ้นการทำนา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย และบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยปลูกในพื้นที่นาข้าวในเขตชลประทาน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 1,272 ราย พื้นที่การผลิต 7,418 ไร่ ในพื้นที่ 9 อำเภอ คาดว่าจะได้รับผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม รวม 7,418,000 กิโลกรัม
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีประกันราคารับซื้อข้าวโพดที่โรงงาน ณ ความชื้น 14.5% ราคา 8.50 บาท/กิโกกรัม รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63,053,000 บาท
ด้านนายชานนท์ บุตรเต อายุ 40 ปี เกษตรกรบ้านนาน้ำมัน ต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย กล่าวว่า ได้ร่วมกับเพื่อนบ้านก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพขึ้นเมื่อประมาณปี 2541 โดยการสนับสนุนของสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเลย เริ่มแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มไม่มากนัก แต่หลังจากที่ปุ๋ยมีราคาแพงในปีนี้ ทำให้เกษตรกรในหมู่บ้านหันมารวมกลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพนำไปใช้ในการเกษตรจำนวนมาก
สำหรับปุ๋ยชีวภาพมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับปุ๋ยเคมี ได้ผลผลิตดีเช่นกัน ปุ๋ยชีวภาพสามารถต้านทานโรคได้มากกว่าปุ๋ยเคมี ในอดีตตนเคยใช้ปุ๋ยเคมีปลูกข้าว 5 ไร่ ได้ผลผลิต 35 กระสอบ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 42 กระสอบ ต้นทุนการผลิตปุ๋ยชีวภาพถูกกว่ามาก เพียง 8 บาทต่อกระสอบ หรือกิโลกรัมละ 6 บาท ขณะที่ปุ๋ยเคมีกิโลกรัมละ 16 บาท ทำให้ปัจจุบันมีชาวบ้านนาน้ำมันเลิกใช้ปุ๋ยเคมีหันมารวมกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เองเกือบทั้งหมู่บ้านแล้ว