xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ขุมทองที่กินได้ทุกเม็ด-ค่านำพาพุ่ง 1.6 หมื่น/หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ การจับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ในระยะที่ผ่านมาของจังหวัดตาก
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ตีแผ่ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน กระบวนการแห่งผลประโยชน์ที่ “กิน” กันทุกเม็ด ตั้งแต่การนำเข้า-ส่งกลับ ล่าสุดค่าหัวพม่าเข้าไทยยังพุ่งไปถึง 1.5-1.6 หมื่น/คน แต่ยังคงมีแรงงานพม่าทะลักเข้าไม่หยุด แค่ 6 เดือนเมืองตากจับได้ร่วมครึ่งแสน แต่เล็ดลอดเข้าเพียบ จนสามารถส่งเงินค่าแรงกลับบ้านเกิดได้มหาศาล ชี้เฉพาะโต๊ะแลกเงินแม่สอดบางแห่งมียอดส่งเงินกลับพม่าสูงร่วม 5 ล้านบาท/วัน

โศกนาฏกรรมแรงงานพม่าเสียชีวิตภายในตู้คอนเทนเนอร์ถึง 54 คน ระหว่างลักลอบลำเลียงจากระนอง-ภูเก็ต เมื่อคืนวันที่ 9 เม.ย.2551 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงขบวนการค้ามนุษย์ หรือการค้าแรงงานเถื่อนในประเทศไทย ที่ไม่มีวันตายอย่างแท้จริง

ประเด็นปัญหา “แรงงานเถื่อน” ในประเทศไทย นอกจากจะเป็นปัญหาคาราคาซังมานานนับสิบๆ ปีแล้ว แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ด้วยการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ด้วย “ผลประโยชน์” ที่เก็บกินได้ไม่รู้จักหมด จักสิ้น ทำให้ประเด็นปัญหายังคงอยู่ และนับวันจะพัฒนารูปแบบการนำพา-การค้าคน หลบเลี่ยงกฎหมายได้ดียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับวงเงินผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะแรงงานพม่า

ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านภาคเหนือ มีช่องทางนำเข้าแรงงานเถื่อนใหญ่สุดอยู่ที่ชายแดนจังหวัด ทั้ง 5 อำเภอ คือ อุ้มผาง, พบพระ, แม่สอด, แม่ระมาด และท่าสองยาง มีลำน้ำเมย เป็นเส้นกั้นพรมแดน ระยะทางกว่า 580 กม.ก่อนที่จะมีการลำเลียงผ่านเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศต่อไป ซึ่งแม้ว่าตามเส้นทางแม่สอด-ตาก ระยะทางไม่ถึง 100 กม.จะมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่นับสิบจุดก็ตาม แต่ก็ยังมีแรงงานเถื่อนทะลักออกมาไม่หยุด

ทั้งนี้ เนื่องเพราะผลประโยชน์จากการนำพาที่สูงถึง 15,000-16,000 บาท/หัว ในกลุ่มแรงงานชาย และ 13,000 บาท/หัว ในกลุ่มแรงงานหญิง แลกกับการส่งถึงจังหวัดชั้นในของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฯลฯ

ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ การก่อกำเนิดขึ้นของชุมชนพม่ากลางประเทศไทย เช่น สมุทรสาคร ที่มีแรงงานพม่าทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และแรงงานนอกระบบ รวมตัวกันอยู่ในชุมชนอย่างหนาแน่น อาทิ ชุมชนเกาะสมุทร ชุมชนหมู่บ้านท่าจีน

และไม่ต้องพูดถึง ชุมชนตลาดกุ้ง ที่ถูกเรียกขานว่า “ตลาดย่างกุ้ง” ที่มีทั้งร้านคาราโอเกะ เปิดเพลงพม่า, ร้านอาหารพม่า ที่มีสาวบริการชาวพม่า มิหนำซ้ำหน่วยงานราชการบางแห่งยังทำ “ป้ายภาษาพม่า” ติดไว้คอยให้บริการด้วย โดยกระบวนการค้าแรงงานพม่านั้น มีนายหน้าอยู่ทั้งในฝั่งพม่า และฝั่งไทย

ฝั่งพม่า ที่พร้อมรับออเดอร์ทุกขณะนั้น มีนายหน้าค้าคนอยู่ประมาณ 4-5 ราย แต่ที่เป็นเจ้าใหญ่ว่ากันว่าคือ “หม่องชิดตู่” อีกจุดหนึ่งคือ ทหารกะเหรี่ยง 999 หรือกะเหรี่ยง DKBA :กะเหรี่ยงพุทธ โดยจะส่งตัวแรงงานพม่าข้ามฝั่งแม่น้ำเมยผ่านท่าข้ามต่างๆ ที่มีอยู่ตลอดแนว ซึ่งสามารถเดินลุยน้ำข้ามฝั่งกันได้ตลอดทั้งคืน

ส่วนฝั่งไทยมีหัวขบวนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ-นายทุนในพื้นที่ ซึ่งจะรับช่วงต่อจากนายหน้าฝั่งพม่า โดยมีส่วนแบ่งจากเงินค่าหัวร่วมๆ 10,000 บาท/หัว

การส่งแรงงานพม่าเข้าพื้นที่ชั้นในจากแม่สอด จะส่งผ่าน 3 เส้นทางหลักคือ

1.ขึ้นรถทัวร์ประจำทางเข้ากรุงเทพฯ แรงงานชาวพม่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นหัวละ 10,000 บาท ไม่เกี่ยวกับค่าหัวที่นายหน้าชาวไทยจะได้รับ ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มีเงินต้องการความสะดวกสบายและมีงานทำเป็นหลักแหล่งอยู่แล้ว

2.พวกที่ซุกซ่อนไปกับรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร เช่น กะหล่ำปลี หรือรถบรรทุกเฟอร์นิเจอร์ ตามเส้นทางแม่สอด-ตาก ระยะทาง 87 กม.ซึ่งบางส่วนเมื่อใกล้ถึงจุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ต.แม่ฝน, จุดตรวจบ้านห้วยยะอุ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด และจุดตรวจบ้านท่าเล่ย์ ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก จะหาทาง “เลี่ยงด่าน” โดยใช้การเดินเท้าผ่านทางป่าเขาเพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ

3.พวกที่มีเงินน้อย ไม่มีค่าเดินทาง จะอาศัยเดินเท้า ลัดเลาะตามป่าเขา ซึ่งมีหลากหลายเส้นทางตั้งแต่ อ.พบพระ ไปสู่เส้นทาง อ.วังเจ้า จ.ตาก และ อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร โดยใช้เวลาเดินเท้า 3 วัน 3 คืนเพื่อหลบด่านตรวจที่มีทั้งตำรวจ ทหาร อส. ตำรวจทางหลวง กว่า 10 ด่าน เพื่อมาที่จุดหมาย ปลายทางดังกล่าว จากนั้นจะมีนายหน้ามารับช่วงพาขึ้นรถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

บางกลุ่มใช้เส้นทาง อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด ทะลุ ต.แม่กาษา ก่อนจะเดินเท้าไปทะลุ ต.สามหมื่น อ.แม่ระมาด ไปทะลุ อ.บ้านตาก และ ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก ,หรือเดินเท้าผ่าน อ.แม่สอด อ.พบพระ ไปทางบ้านชิบาโบ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ ทะลุบ้านคลองลาน จ.กำแพงเพชร , อ.อุ้มผาง อ.แม่สอด และอ.พบพระ จากนั้นใช้เส้นทางรถยนต์บริเวณหลัก กม.ที่ 83-86 ก่อนจะเดินเท้าเข้าไปทางด้าน อ.แม่สอด ไปทะลุ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินเท้าเข้า อ.แม่สอด ผ่านบ้านเจดีย์โคะ ต.มหาวัน บริเวณ กม.48 ก่อนจะเดินเท้าไปทะลุ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร จากนั้นจะขนคนเข้าจังหวัดต่างๆ โดยรถกระบะ หรือรถบรรทุกดัดแปลง

เช่น เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2551 พ.ต.อ.ทัศวัฒน์ บุญญาวัฒน์ ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก (ด่านแม่สอด) ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.กันต์พงษ์ วงศ์วิชัย สว.สส.ปป.ด่าน ตม.ตาก (แม่สอด) นำกำลังเจ้าหน้าที่ด่าน ตม.ตาก จับกุมขบวนการขนแรงงานต่างด้าว ชาย 15 คน หญิง 20 คน รวม 35 คนบริเวณหลัก ก.ม.ที่ 40-41 ถนนสายแม่สอด-ตาก พร้อมยึดรถยนต์ปิกอัพกระบะ 4 ประตู ยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ไม่ติดป้ายหมายเลขทะเบียนสีดำ และรถยนต์ปิกอัพกระบะ 4 ประตู ยี่ห้อ อีซูซู สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน 8979 จังหวัดอ่างทอง โดยแรงงานต่างด้าวชาวพม่านั่งยัดเยียด บริเวณข้างหน้าคนขับและหลังคนขับ ส่วนที่กระบะหลังรถยนต์บรรทุกสัมภาระ กระเป๋าเป้,

จากการสอบสวนนางสาววินท้วย อายุ 15 ปี ไม่มีนามสกุลสัญชาติพม่า ให้การว่า มาจากเมืองจองโด ประเทศพม่า โดยพื้นที่การเกษตรเกิดปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนอาหาร จึงตัดสินใจเข้าไปหางานทำที่กรุงเทพมหานคร โดยจ่ายค่านายหน้าคนละ 16,000 บาท แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพวกตนได้ในระหว่างทาง

ซึ่งเหตุการณ์คราวนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า จุดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจจับต่างด้าวอยู่ถัดจากด่านบ้านห้วยหินฝน อันเป็นจุดตรวจร่วมระหว่างทหาร-ตำรวจ แต่ทำไมรถที่ขนต่างด้าวคันดังกล่าวจึงสามารถผ่านด่านไปได้ ทั้งที่ถนนเส้นนี้ เป็นเส้นทางเดียวที่จะออกจากตัวเมืองแม่สอดไปยังจังหวัดตาก

ว่ากันว่า การลักลอบขนแรงงานพม่าจาก อ.แม่สอด หรืออำเภอชายแดนอื่นๆ ของจังหวัดตาก เข้าสู่พื้นที่ชั้นในนั้น เกิดขึ้นทุกวัน สอดคล้องกับสถิติการจับกุมระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ที่สูงเกือบครึ่งแสน โดยนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)จังหวัดตาก ระบุว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ได้ 42,426 คน, ผู้นำพา 11 ราย, ของกลางรถยนต์ที่ใช้นำพา 15 คัน, รถจักรยานยนต์ 8 คัน, โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง และเงินสดจำนวน 50,000 บาท

ทั้งหมดถูกผลัดดันกลับพม่าผ่านชายแดนแม่สอด

ซึ่งว่ากันว่า ในกระบวนการส่งกลับแรงงานพม่าที่ผิดกฎหมายนั้น ก็มีช่องทาง “ทำมาหากิน” เกิดขึ้นเช่นกัน เช่น กรณีที่แรงงานพม่าต้องการกลับบ้านช่วงเทศกาลต่างๆ ช่วงออกจากกรุงเทพฯ ก็จะใช้บริการรถโดยสารตามปกติ แต่เมื่อมาถึงด่านตรวจแห่งหนึ่งตามเส้นทางตาก-แม่สอด ก็จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวลงไปทำประวัติ ในราคาที่ไม่มีใบเสร็จหัวละ 500 บาท ก่อนที่จะผลักดันกลับพม่า เพิ่มตัวเลขเป็นผลงานของหน่วยงานได้อีกทาง

แต่ปัญหาก็คือ ผลักออกไปเท่าไหร่ ก็กลับเข้ามาเท่านั้น หรือมากกว่าเดิม หรือผลักดันวันนี้ พรุ่งนี้เช้าก็กลับมาโผล่ที่ฝั่งไทยเช่นเดิม โดยจากข้อมูลของฝ่ายปกครองจังหวัดตาก ระบุว่า มีแรงงานพม่าบางคนมีประวัติถูกจับกุมถึง 5 ครั้งในรอบสัปดาห์เดียว แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะหนีความยากแค้น-การกดขี่ในพม่า มาขุดทองในประเทศไทยของแรงงานพม่าได้เป็นอย่างดี

อีกประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความหนาแน่นของแรงงานพม่าในประเทศไทย ก็คือ การส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวของแรงงานแต่ละคนในพม่า ที่แน่นอนว่าจะส่งผ่านระบบแบงก์ หรือสถาบันการเงินปกติไม่ได้ โดยที่แม่สอด จะมีโต๊ะแลกเงินรับจ้างส่งเงินให้กับแรงงานเหล่านี้

นายเน 1 ในชาวพม่าที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก มานาน เป็น 1 ในโต๊ะแลกเงินที่รู้กันในหมู่แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยว่า รับจ้างส่งเงินกลับให้ ระบุว่า แต่ละวันจะมีเงินบาทจากแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ส่งผ่านมือเขากลับไปให้ครอบครัวในพม่า ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งถ้าคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 2.50 บาท/100 จั๊ต ก็จะได้เงินจั๊ตส่งเข้าพม่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านจั๊ต ทั้งที่แรงงานเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 3,000-5,000 บาท/เดือนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น