xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์ประเมินนักล่าสัตว์-บุกรุกป่าอาละวาดหนักเขายายดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารมณ์  สุนทรประเสริฐ  ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า และรองประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง  ต.บ้านแลง อ.เมืองระยอง
ระยอง - ประธานอาสาพิทักษ์ป่า สุดทน นักล่าสัตว์-บุกรุกป่าอาละวาดหนักเขายายดา ตัวเองถูกข่มขู่ ยื่นหนังสือจี้ผู้ว่าฯ อธิบดี แก้ปัญหาด่วน

นายอารมณ์ สุนทรประเสริฐ ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า จ.ระยอง รองประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง ระบายความรู้สึกว่า นักล่าสัตว์ป่ากำลังอาละวาดหนักและการบุกรุกพื้นที่ป่าบ้านแลง อ.เมืองระยอง ซึ่งเป็นป่าที่สวยงามที่สุด หลังจากหน่วยป้องกันรักษาป่าฐานเขายายดาถูกยุบ เหลือแต่ตัวอาคาร เกือบทุกวันได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ต.ตะพงและ ต.บ้านแลง มีนักล่าสัตว์ป่าเข้ามาล่าสัตว์เป็นประจำ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำฐานเขายายดา นักล่าทั้งหลายจึงไม่เกรงกลัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชมรมอนุรักษ์ฯบ้านแลง ไม่มีอำนาจหน้าที่และคงทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ดูแลรักษาป่าผืนนี้ไว้

ที่ผ่านมา ชมรมอนุรักษ์ฯบ้านแลง ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฐานยายดาออกตรวจพื้นที่จับกุมผู้บุกรุกป่าและล่าสัตว์ ดำเนินคดีหลายราย และเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งมีผู้ลักลอบขึ้นไปตัดโค่นไม้และแปรรูปโดยใช้เลื่อยเครื่อง ระหว่างเขายายดา-และเขาสำนักทอง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

นายอารมณ์ กล่าวว่า ป่าสงวนแห่งชาติใครจะเอาของป่าออกจากป่ามันยาก เพราะมันผิดกฎหมาย ในเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล อีกหน่อยป่าไม้จะถูกทำลายและสัตว์ป่าก็จะถูกล่าจนหมด ปัจจุบันนี้สถานการณ์การบุกรุกป่าบ้านแลงและพื้นที่ตะพง กำลังมีการบุกรุกป่าอย่างต่อเนื่อง และด้านหลังป่าบ้านแลงซึ่งมีเขตติดต่อ ต.เพ ต.แกลงและ ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง สมาชิกชมรมอนุรักษ์บ้านแลงพร้อมด้วยราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ออกตรวจเป็นประจำ

พบมีการบุกรุกผืนป่าแล้วปลูกต้นยางพารา โดยเจาะเป็นช่อง เมื่อต้นยางเจริญเติบโต ต้นไม้รอบๆ ก็ถูกตัดโค่นหมด ในไม่ช้าจะกลายเป็นป่ายาง นับเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะป่าบริเวณแถบนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 28,000 ไร่ จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธาร 15,000 ไร่ให้ประโยชน์กับชาวบ้านครอบคลุมพื้นที่ใน 6 ตำบล

การมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ฯ และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าคอยออกตรวจตราในพื้นที่เป็นวิธีการสกัดกั้นการทำลายป่าวิธีหนึ่ง ถ้าชาวบ้านคิดเหมือนกันหมดคิดว่าการตัดโค่นต้นไม้ ล่าสัตว์ป่า คงไม่เป็นไร คิดอย่างนี้ป่า และสัตว์ป่าหมดแน่ และที่สำคัญ อย่างยิ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาประจำฐานเขายายดาเหมือนเดิม บริเวณพื้นที่ป่าบ้านแลงมีการตั้งกฎกติกา ห้ามผู้ใดเข้าไปตัดไม้ออกจากป่า เข้าไปบุกรุกแผ้วถางป่า และนำของป่าออกมาจะมีความผิด ชาวบ้านทุกคนทราบกฎกติกา แต่คนที่มาจากที่อื่นไม่รู้กฏกติกาของเรา

สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ชมรมอนุรักษ์และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าสืบทราบว่า มีนักล่าสัตว์แบกปืนยาวเพื่อการล่าสัตว์ป่าและตัดต้นไม้ ขนของออกจากเขา หลังแจ้งไปยังหน่วยป้องกันรักษาป่าบ้านท่าเสา (ระยอง 2) อ.บ้านค่าย กว่าจะนำกำลังมาถึงก็หนีไปหมดแล้ว เหตุการณ์อย่างนี้ทำให้คนแจ้งก็ไม่อยากแจ้งอีกต่อไปแล้ว

นายอารมณ์ กล่าวย้อนเหตุการณ์ในอดีตว่า ต.บ้านแลง มีพื้นที่ป่าเหมือนที่อื่นมีสัตว์ป่าหลายชนิด มีธารน้ำไหล และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้าน มีการบุกรุกแผ้วถาง ล่าสัตว์ นานเข้าป่าก็หมดไปพร้อมกับสัตว์ป่า และในปี 2531 ชาวบ้านจำนวนมากเริ่มขายที่ดิน ทิ้งสวนผลไม้ เนื่องจากขาดน้ำ เมื่อป่าหมดน้ำชาวสวนก็เดือดร้อน หลายครอบครัวย้ายถิ่นฐานบ้านเกิด

“ผมเองเคยคิดย้ายเหมือนกัน แต่ด้วยความสำนึกว่าเราเป็นคนที่นี่ และมีอาชีพทำสวน และในระหว่างช่วงเกิดวิกฤตน้ำปีเดียวกันนี้ บริษัท ระยองทำไม้ จำกัด ได้รับสัมปทานเข้าตัดไม้พื้นที่ป่าบ้านแลงซ้ำอีก ต้นไม้เสียหายนับพันท่อน เป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นที่รวมตัวกันชุมนุมประท้วงให้หยุดตัดโค่นไม้ เหมือนอย่างกรณีที่เขางวงช้าง พื้นที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย ก็ได้รับสัมปทานตัดโค่นไม้ ชาวบ้านเดือดร้อนเช่นเดียวกัน”

ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สมัย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบข่าวชาวบ้านประท้วงสัมปทานตัดไม้ จึงเดินทางมาที่ ต.บ้านแลง หลังรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงสั่งปิดป่าทั่วประเทศ สัมปทานหยุดตัดโค่นไม้ แต่ชาวบ้านยังไม่ยอมหยุดอยากได้ที่ดินบนภูเขา เพราะไม่ต้องลงทุนมาก มีการบุกรุกอย่างต่อเนื่องบานปลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปี 2535

มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอย้ายมาจากทางภาคอีสาน ทราบความเดือดร้อนจึงชี้แนะให้ตั้งชมรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 ภายใต้ชื่อ ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง โดยมีนายสุทัศน์ มีสบาย ประธานชมรมฯ ร่วมกับสมาชิกฯ เพาะชำกล้าไม้ ดูแลรักษาป่า ปลูกป่า การปลูกป่าชุมชนบ้านแลงผืนแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2536 ปลูกต้นประดู่ 10,000 ต้น บนพื้นที่ 55 ไร่

หลังจากนั้น ก็เริ่มปลูกอีกหลายครั้ง ปัจจุบันต้นไม้เหล่านี้มีความเจริญเติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์และสวยงามมาก ปัจจุบันเรามีป่าชุมชนและป่าจัดตั้ง 1,000 ไร่ ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ของตำบลบ้านแลง หลังจากในอดีตป่าบ้านแลงได้รับความบอบช้ำจากสัมปทานตัดไม้

นายอารมณ์ กล่าวต่อว่า มีการประมาณการกันว่า มีผึ้งอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้กว่า 200 ลัง ลองนึกดูสภาพป่าว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาในปี 2543 จังหวัดร่วมกับป่าไม้จัดฝึกอบรมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เพื่อเสริมกำลังชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง หลายคนเริ่มมีอายุมากขึ้น โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เป็นโครงการของพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีนายทหารพิเศษของพระองค์ท่านมาเป็นผู้อำนวยการฝึก โดยใช้ทหารมาเป็นครูฝึกเป็นเวลา 3 คืนกับ 4 วัน ชาวบ้านเข้าร่วมการฝึกทั้งหมด 124 คนจาก 6 ตำบล เพื่อดูแลรักษาป่า ปลูกป่า สร้างฝายแม้ว ศูนย์วิจัยต้นน้ำฝั่งทะเลตะวันออกเห็นคุณค่าของป่าจากที่เคยแห้งแร้ง ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีน้ำใช้ตลอดปี

จากในอดีตชาวสวนผลไม้ต้องแย่งชิงน้ำกัน ปัจจุบันมีฝายแม้วจำนวน 45 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ และภูเขาพังทลาย ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และมีสัตว์เข้ามาอาศัยอยู่ในป่าบ้านแลงหลายชนิด เช่นหมี เก้ง เต่า ปู เลียงผา และลิง จำนวนมากจนได้รับรางวัลโลกสีเขียวของ ปตท.จากนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

เหมือนกับฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ป่าบ้านแลง เมื่อมีคำสั่งยุบฐานป้องกันรักษาป่าเขายายดา ชาวบ้านทุกคนมีความรู้สึกไม่สบายใจ สมาชิกชมรมและราษฎรอาสาฯจะออกตรวจดูแลรักษาป่าก็ไม่ได้ อาจเกิดอันตรายแก่ชีวิต ซ้ำร้ายมีการลักลอบจุดไฟเผาป่าเขาท่าฉุด เขายายดา สร้างความเสียหายกว่า 70 ไร่ หากปล่อยให้เกิดปัญหาอย่างนี้ต่อไปป่าบ้านแลงจะกลับไปเป็นป่าแดนเดือดซ้ำสองอีกก็เป็นได้ หน่วยงานของรัฐอยากให้เป็นเช่นนี้หรือ ชาวบ้านช่วยกันปกปักรักษาป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฐานป้องกันรักษาป่าฐานเขายายดามานาน จนเกิดจิตรสำนึกคุณค่าของป่า ไม่คิดหนีย้ายทิ้งถิ่นฐาน พวกเราจะยืนหยัดต่อสู้พิทักษ์ป่าจนถึงที่สุด

นายอารมณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าขณะนี้ได้ทำหนังสือถึง นายพลวัต ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้จัดตั้งหน่วยป้องกันรักษาป่าฐานเขายายดา เหมือนเดิมโดยด่วน ส่วนการบุกรุกป่าเขาพนมศาสตร์ เขาหน้ายักษ์ เขตติดต่ออ.บ้านค่ายและอ.วังจันทร์ ได้รับแจ้งว่าป่าหมดแล้ว รวมทั้งเขาพัง อ.เขาชะเมา ก็มีการบุกรุกป่ากันสนุกสนาน ในรายละเอียดไม่ขอพูด
กำลังโหลดความคิดเห็น