ตาก – ประธานสภาอุตฯคนใหม่ ประกาศเดินหน้าดัน “มหานครแม่สอด – เขตเศรษฐกิจชายแดน”สร้างเขื่อนเศรษฐกิจสกัดแรงงานเถื่อนไหลเข้าพื้นที่ชั้นใน จี้รัฐบาลเร่งปฏิบัติตามมติ ครม. 19 ต.ค.47 ทำแม่สอดเป็นเมืองคู่แฝดเมียวดีอย่างแท้จริง หลังพม่าเดินหน้าพัฒนาหัวเมืองชายแดนเต็มที่ พร้อมขอรัฐพัฒนาระบบ Logistic หนุน 200 โรงงานในท้องถิ่นที่มีออเดอร์เข้าปีละนับหมื่นล้าน
นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก คนใหม่กล่าวภายหลังเข้ามารับตำแหน่ง ว่า สภาอุตสาหกรรมตากยุคใหม่ ปี 2551 จะต้องใช้นโยบายเชิงรุกทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการค้าชายแดน เนื่องจากที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก วันนี้พม่าได้พัฒนาไปอย่างมาก มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีไปแล้ว รวมทั้งให้เมียวดีเป็นศูนย์กลางบริการแบบเบ็ดเสร็จ วันสตอป เซอร์วิส ทั้งระบบศุลกากร-โกดังเก็บสินค้า-การบริการ ประชาชนเข้า-ออก ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า พม่าได้ใช้นโยบายเชิงรุกพัฒนาจังหวัดเมียวดีเป็นเขตเศรษฐกิจไปอย่างมาก
ดังนั้น จึงต้องมองแม่สอด และพัฒนาแม่สอด เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 โดยเร่งด่วน สร้างจุดแข็งให้แม่สอดดึงการลงทุนชายแดน สร้างแม่สอดให้เป็นเขื่อนเศรษฐกิจ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรม-เกษตร-การค้า-การท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ โดยจัดหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมด้านต่างๆ จัดระบบการค้าชายแดน ,จัดระบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม และรัฐบาลต้องหันมาหนุนให้เอกชนลงทุนในพื้นที่ชายแดนแม่สอด ที่จะสร้างให้เป็นเขื่อนเศรษฐกิจ
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นในพื้นที่แม่สอด และยังคงประกอบธุรกิจอยู่มีมากกว่า 200 แห่ง(โรงงาน) เจ้าของผู้ประกอบการสามารถรับออเดอร์ได้ปีละนับหมื่นล้าน ดังนั้น ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องสร้างเขื่อนเศรษฐกิจที่แม่สอด จัดระบบ Logistic-ระบบแรงงานต่างด้าว-เครือข่ายการขนส่งในประเทศ ระหว่างประเทศ-การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานไปต่างจังหวัด – กรุงเทพฯ
เมื่อเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งระบบ ทำให้เกิดเขื่อนเศรษฐกิจที่จะนำการลงทุนมาสู่พื้นที่แม่สอด และป้องกันการทะลักออกนอกพื้นที่ด้วยศักยภาพที่พร้อมของเมืองแม่สอด จังหวัดตาก
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เราจะต้องใช้นโยบายเชิงรุกอย่างรวดเร็ว เร่งพัฒนาแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน-สานต่อการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด และร่วมสนับสนุนนโยบายยกฐานะเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด” เพื่อรองรับจังหวัดเมียวดี ที่รัฐบาลพม่าได้พัฒนาเป็นเขื่อนเศรษฐกิจของพม่าเช่นกัน