xs
xsm
sm
md
lg

อีสานใต้เผชิญแล้งหนัก 6 จว.110 อำเภอ - เดือดร้อน 2.6 ล้านคน/คาดสูญ 72 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อีสานล่างประกาศ 6 จว. 110 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้ง ราษฏรเดือดร้อนกว่า 2.6 ล้านคน พื้นที่เกษตรเสียหายร่วม 5,000 ไร่ กว่า 1.9 ล้าน คาดเสียหายอีกกว่า 72 ล้าน ด้านชลประทานโคราช ระบุปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง ลดฮวบต่อเนื่อง เหตุอากาศร้อนจัดคนใช้น้ำมาก เผยเขื่อนลำตะคอง-ลำพระเพลิง แหล่งน้ำสำคัญเหลือในอ่างไม่ถึง 50%

วันนี้ (29 มี.ค.) นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การภัยแล้งในพื้นที่ความรับผิดชอบ 6 จังหวัดอีสานล่าง ประกอบด้วย นครราสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์ , ศรีสะเกษ และ สระบุรี จังหวัดต่างๆ ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากความแห้งแล้งแล้วทั้ง 6 จังหวัด 110 อำเภอ 823 ตำบล 9,030 หมู่บ้าน คิดเป็น 68.03% ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 2.6 ล้านคน

สำหรับจ.นครราชสีมา มีพื้นที่และประชาชนประสบภัยแล้งมากสุด ทั้ง 32 อำเภอ 220 ตำบล 2,542 หมู่บ้าน, รองลงมาคือ จ.ศรีสะเกษ ประสบภัยแล้ง 22 อำเภอ 202 ตำบล 2,297 หมู่บ้าน, จ.บุรีรัมย์ ประสบภัยแล้งแล้ว 20 อำเภอ 141 ตำบล 1,478 หมู่บ้าน, จ.สุรินทร์ ประสบภัยแล้งแล้ว 16 อำเภอ 129 ตำบล 1,044 หมู่บ้าน, จ.ชัยภูมิ ประสบภัยแล้ว 16 อำเภอ 123 ตำบล 1,617 หมู่บ้าน และ จ.สระบุรี ประสบภัยแล้งแล้ว 4 อำเภอ 8 ตำบล 52 หมู่บ้าน

ทั้งนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายแล้วรวม 4,980 ไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 1.9 ล้านบาท คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับความเสียหายอีกกว่า 45,000 ไร่ คิดมูลค่าความเสียหายประมาณ 72 ล้านบาท

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือ ด้วยการซ่อมแซม สร้างทำนบ ฝายกั้นน้ำ ให้ประชาชนไปแล้วจำนวน 72 แห่ง และ ส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายน้ำจำนวน 133 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนไปแล้ว 15,552,200 ลิตร เครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 5.3 ล้านบาท

ด้าน นายเชลงศักดิ์ มานุวงศ์ หัวหน้าโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และประชาชนใช้น้ำมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้ง 22 แห่งของ จ.นครราชสีมา ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 โครงการ วันนี้ (29 มี.ค.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 482.76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48.63% ของความจุดที่ระดับเก็บกัก 992.69 ล้าน ลบ.ม.

โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในอ่างฯ ไม่ถึง 50% ของความจุ มีจำนวน 2 แห่ง คือ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาที่สำคัญของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 114.82 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36.51 %ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 50.79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.17 % ของความจุ 110 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ของจังหวัดจำนวน 18 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 99.85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59.11 % ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 168.94 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ นายสุพงศ์ สินธุรัตน์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้พืชเกษตรขาดน้ำและยืนต้นตายในหลายพื้นที่ รวมถึงมันสำปะหลัง ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์เนื่องจากประสบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้ราคาต้นพันธุ์มันพุ่งสูง ฉะนั้นในปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรมีวิธีการจัดการต้นพันธุ์ให้ผ่านภาวะภัยแล้งนี้ไปให้ได้

โดยวิธีการที่ถูกต้องคือ เกษตรกรอย่าขุดมันสำปะหลังหมดทั้งแปลง เหลือต้นพันธุ์ ไว้อย่างน้อย 10 % ควรขุดมันสำปะหลังอายุไม่น้อยกว่า 8 เดือน และอายุไม่เกิน 14 เดือน หากต้นพันธุ์ที่อ่อนจะเก็บรักษาได้ไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากอัตราการงอกจะต่ำ ควรเก็บรักษาต้นพันธุ์อย่างถูกวิธี โดยการตัด มัด และเรียงต้นพันธุ์ให้ปลายตั้งขึ้นมัดละ 20-50 ต้น ยกตั้งเป็นกองๆละไม่เกิน 10- 15 มัด จากนั้นใช้ดินกลบโคนต้นสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร วางต้นไว้ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเก็บต้นพันธุ์ไว้ได้นาน ประมาณ 2 เดือน

“เมื่อถึงฤดูกาลปลูกให้คัดเลือกต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ปลูก โดยตัดปลายอ่อนสีเขียวที่แห้ง หรือแตกกิ่งและโคนต้นที่มีรากงอกทิ้ง แล้วคัดเลือกเฉพาะต้นที่สดไปปลูก จะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ และอัตราการงอกสูง ส่งผลให้ได้จำนวนต้นต่อพื้นที่สูง ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและปริมาณมาก” นายสุพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น