xs
xsm
sm
md
lg

ไทยนำทูต 7 ประเทศลงสำรวจ“เขาพระวิหาร”-แจงข้อปัญหาขึ้นทะเบียนมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ไทยนำคณะทูต 7 ประเทศลงสำรวจพื้นที่เชิงเขาพระวิหาร เผยทูตทุกประเทศปิดปากเงียบไม่ยอมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ด้านอธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุนำคณะทูตลงพื้นที่เพื่อใช้โอกาสอธิบายชี้แจงประเด็นที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ ชี้อยากให้ 2 ประเทศร่วมเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา

วันนี้ (23 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดศรีสะเกษ ว่า ที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะเอกอัครราชทูตจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศคิวบา, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, จีน, เกาหลีใต้ และประเทศไนจีเรีย ลงพื้นที่สำรวจอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร , เชิงเขาพระวิหาร และ สระตราว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีร่องรอยการตัดนำเอาหินขึ้นไปก่อสร้างปราสาทเขาพระวิหาร

โดยมีกำลังทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มาคอยเฝ้ารักษาความปลอดภัย ซึ่งคณะทูตดังกล่าวนี้ไม่มีใครเดินทางขึ้นไปสำรวจบนประสาทเขาพระวิหารแต่อย่างใด และปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเดินทางสำรวจพื้นที่เขาพระวิหารในครั้งนี้

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่นำคณะทูตจาก 7 ชาติ มาสำรวจพื้นที่โดยรอบบริเวณเขาพระวิหารครั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยจะได้มีโอกาสอธิบายและชี้แจงให้คณะฑูตให้เข้าใจประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการที่ทางรัฐบาลกัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกนั้นตนเห็นว่าจะเป็นการนำไปสู่การปักปันเขตแดนที่ต่างฝ่ายคิดว่าเป็นของตัวเองตามความเป็นจริง และประเทศไทยเราก็ยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชาตามคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ.2505 แต่พื้นที่โดยรอบเขาพระวิหาร นั้นศาลโลกไม่ได้นำเข้าไปพิจารณาตัดสินด้วย จึงทำให้ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธ์ว่าเป็นเขตแดนของตัวเอง

“การที่ฝ่ายกัมพูชาจะให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ฝ่ายไทยก็ยินดี แต่อย่างไรก็ตามควรให้เกิดผลดีต่อดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธ์ ไม่เป็นผลในทางบวกเพียงฝ่ายไดฝ่ายหนึ่ง และควรที่จะมีการเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางยุติปัญหานี้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายทั้งไทยและกัมพูชา เป็นการป้องกันรอยร้าวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้” นายธฤต กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น